06 ส.ค. 2021

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี … นำองค์ความรู้บูรณาการสู่ชุมชนท้องถิ่นส่งมอบอุปกรณ์ 5 นวัตกรรม ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ​ (อพ.สธ.)​หวังให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด​

โครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ส่งมอบอุปกรณ์ 5 นวัตกรรม เพิ่มศักยภาพเครื่องมือการผลิตตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ​ (อพ.สธ.)​ ได้แก่ เครื่องต้นแบบในการดำนาแบบใช้คนลาก เครื่องต้นแบบในการสีข้าว เครื่องอบลมร้อน เครื่องโม่ข้าว และเครื่องต้นแบบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หวังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือในท้องถิ่น ร่วมพัฒนาการลดแรงงานการผลิตและแปรรูปข้าวหอมไชยา จากการบูรณาการศาสตร์องค์ความรู้ แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการส่งมอบ พร้อมด้วยนายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
.
ผศ.ดร. วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ในอำเภอไชยา พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้วิถีการทำนาแบบดั้งเดิม การดำนาโดยใช้แรงงานคน จากปัญหาเรื่องการขาดแคลนเครื่องมือในท้องถิ่นที่ปลูกข้าวของอำเภอไชยา ความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมจากชุมชนที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างเครื่องต้นแบบให้เครือข่ายผู้ผลิตข้าวหอมไชยาสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มากขึ้น จากการประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างเครื่องต้นแบบช่วยลดระยะเวลาและแรงงานในการดำนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพิ่มศักยภาพในการผลิตนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง เหมาะสมกับความต้องการของคนในชุมชนและท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ ให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี การนำองค์ความรู้มาบูรณาการศาสตร์ร่วมกันเพื่อตอบโจทย์การสร้างประโยชน์และพัฒนาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรม
.
สำหรับอุปกรณ์ 4 นวัตกรรม ที่ได้ส่งมอบแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ เครื่องต้นแบบในการดำนาแบบใช้คนลาก ผลิตโดย อาจารย์คมกริชณ์ ศรีพันธ์ เครื่องต้นแบบในการสีข้าว เครื่องอบลมร้อน เครื่องโม่ข้าว และเครื่องต้นแบบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ผลิตโดย ดร.พีรพงศ์ หนูช่วย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านการหมักสมบูรณ์โดยเลือกใช้สูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารหลักที่ผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนทำการอัดเม็ดปุ๋ย ต้องให้มีความชื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านเครื่องอัดเม็ดจะได้ขนาด 6 มิลลิเมตร ที่มีขนาดเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช ผลิตโดย ดร.นรานันท์ ขำมณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเก็บเกี่ยวข้าวหอมไชยา และได้รับความรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในกระบวนการสีข้าวให้ได้คุณภาพสูงสุด
.

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร /ถ่ายภาพ