05 พ.ค. 2020

มรส.หนุนชาวบ้านปลูกผักสวนครัว สร้างภูมิคุ้มกันค่าใช้จ่ายในสภาวะโรคโควิด-19

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมี ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ พร้อมคณะอาจารย์และบุคลากรร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวและการประยุกต์ใช้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของครัวเรือนมาจัดแสดง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ณ ครัวเรือนนายคเนศร์ สกุลพันธ์ บ้านสะพานกฐิน หมู่ที่ 4 ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายวิชวุชย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD – 19) จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศที่เชื้อโรคได้แพร่กระจาย สำหรับประเทศไทยมีผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจ ในระดับมหภาคและเศรษฐกิจฐานราก ที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย และเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดทำ แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเป็นการดัดแปลงตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือน รณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัว ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเน้นการพึ่งตนเอง และความสามัคคีของคนในชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ระดับครัวเรือน และลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้ง เป็นการสร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ ทางจังหวัดจึงขอให้ทุกอำเภอจัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน (D – Day) พร้อมกันในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ภายใต้การบูรณาการของทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้คัดเลือกครัวเรือนนายคเนศร์ สกุลพันธ์ บ้านสะพานกฐิน หมู่ที่ 4 ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจุดขับเคลื่อนกิจกรรมตัวอย่างในระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD – 19) ที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินงานตามพันธกิจหลักด้านการส่งเสริมการมีงานทำและสร้างรายได้แก่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น จึงมีการวางแผนไว้ว่า หลังจากนี้ จะร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการต่อยอดกิจกรรมเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน ด้วยการนำนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ลงปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อที่จะค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือครัวเรือนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการลดรายจ่ายด้วยการปลูกพืชผักทานได้รอบบ้านของตนเองในอนาคตซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์/ข่าว
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ

เทพพิทักษ์ ยศหมึก รายงาน
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2020-news/2020-05-05-covid{/AdmirorGallery}