09 ก.พ. 2021

มรส.จัดอบรม”อาจารย์ที่ปรึกษาครูประจำชั้นห้องเรียนวิศวกรสังคม”โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดอบรม”อาจารย์ที่ปรึกษาครูประจำชั้นห้องเรียนวิศวกรสังคม”โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม รายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) แก่อาจารย์ที่ปรึกษา(ครูประจำชั้นห้องเรียนวิศวกรสังคม) ระหว่างวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี เป็นวิทยากรบรรยายการ เพื่อเพิ่มทักษะวิศวกรสังคมและการทำแผนปฏิบัติงานโครงการฯ ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
:
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินการโครงการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการดังกล่าว เพื่อมายกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย จำนวน 82 ตำบล ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย จาก 76 มหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ ซึ่งมหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่พัฒนาสร้างคนให้คนไปสร้างงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม
:
โดยมหาวิทยาลัยทําหน้าที่เป็น System Integrator ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา กว่า 1,600 อัตรา ให้มีงานทําและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการจัดทําข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จํานวน 82 ตําบลได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 63 ตำบล จังหวัดชุมพร 7 ตำบล และจังหวัดระนอง 12 ตำบล จากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส 2019 โดยจะมีการฝึกทักษะในการทำงานกับชุมชนบนฐานข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ
:
ทางมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิด “วิศวกรสังคม” ขึ้นมา ซึ่งคำว่าวิศวกรสังคมนั้น จะสร้างให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เป็นระบบมีเหตุและผล สามารถลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงต่อชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรในการพัฒนาประเทศ โดยมีคุณลักษณะหลัก 4 ประการ คือ 1. นักศึกษาต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลเห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย 2. คือการนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างไร สามารถสื่อสารองค์ความรู้ที่เรียนไปเพื่อนำไปแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้ 3. คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถที่จะระดมกำลังไม่ว่าจะภายในท้องถิ่นหรือนอกท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นได้ และ 4. คือต้องมีทักษะในการสร้างนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้
:
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
นายเทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
นายสมยศ นุ่นจำนงค์ ภาพ
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
#มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี