26 ก.พ. 2021

อธิการบดี มรส. ลุยจริงถึงท้องถิ่น ลงพื้นที่ จ.ชุมพร “พัฒนาทักษะวิศวกรสังคม” เดินหน้าสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนที่ยั่งยืน


วันนี้(26 ก.พ.2564)มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) จัดอบรม“ทักษะวิศวกรสังคม” รุ่น 4 เเก่ผู้ผ่านการการคัดเลือกให้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่จังหวัดชุมพรโดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. และทีมวิทยากร ในการบรรยายและฝึกทักษะวิศวกรสังคม ระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2564 ณ หอประชุมราชพฤกษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
:
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้จัดอบรมทักษะวิศวกรสังคม เพื่อให้ผู้รับการจ้างงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยถ่ายทอดเป็นทักษะพิเศษที่ช่วยให้คนลงไปทำงานในชุมชนได้ และเริ่มต้นการทำงานอย่างถูกต้องตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เพราะหากไม่เข้าใจหลักการตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มงานไปแล้วอาจจะกลับไปแก้ไขได้ยาก และทุกครั้งที่มีโอกาสก็จะตัดสินใจเดินทางมาพูดคุย แนะนำ สร้างความเข้าใจด้วยตนเอง จากประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ในฐานะครูบาอาจารย์ที่เป็นครูมามากกว่า 22 ปี ในฐานะนักวิชาการ ในฐานะผู้บริหาร และในฐานะเป็นผู้ที่ดูแลโครงการนี้ในภาพรวม ซึ่งมหาวิทยาลัยจะไม่ยอมให้เกิดข้อผิดพลาดในโครงการนี้ และพร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับทุกคน เพื่อให้โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัยและชุมชนในเชิงพื้นที่ เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในเชิงวิชาการเชื่อมกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต
:
ดร.พลกฤต แสงอาวุธ Project Manager มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผู้รับการจ้างงานจะได้รับการฝึกทักษะการเป็นวิศวกรสังคมในการทำงานกับชุมชนบนฐานข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโครงการฯ จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นระยะ ๆ ให้สอดรับกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน โดยกิจกรรมต่างๆ นั้น จะแบ่งเป็นกรอบใหญ่ ๆ อาทิเช่น กิจกรรมในด้านการพัฒนาสัมมาชีพ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยกิจกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมนี้ จะดำเนินการผ่านผู้ที่ได้รับการจ้างงานภายใต้การชี้แนะให้คำปรึกษา จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็น System Integrator ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา 1,640 อัตรา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จํานวน 82 ตำบล ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 63 ตำบล จังหวัดชุมพร 7 ตำบล และจังหวัดระนอง 12 ตำบล จากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส 2019
:

อดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี