01 พ.ค. 2021

รพ.สนาม มรส. รองรับผู้ป่วย Covid-19 พร้อมยื่นมือ บริการชุมชนท้องถิ่น เคียงข้างแม้ในภาวะวิกฤต

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ให้ความร่วมมือกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีในการเปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโรค Covid-19 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดพื้นที่ใต้หอประชุมวชิราลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 300 เตียงพร้อมร่วมระดมและจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพักรักษาตัวของผู้ป่วยแม้เกิดภาวะวิกฤต

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับการประสานขอความร่วมมือจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นด้วยการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ใต้หอประชุมวชิราลงกรณเป็นโรงพยาบาลสนามเพราะเป็นพื้นที่กว้างรองรับจำนวนเตียงได้ 300 เตียงเป็นพื้นที่โล่งมีอากาศถ่ายเท มีพื้นที่แยกผู้ป่วยชาย-หญิง มีห้องน้ำห้องส้วมภายในอาคารมีพื้นที่ที่สามารถปรับเป็น Work Station สำหรับบุคลากรทางการแพทย์แยกกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีพื้นที่การจราจรที่แยกเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสนามออกจากบุคคลทั่วไป ทั้งยังสามารถเพิ่มจำนวนเตียงหากมีผู้ป่วยเพิ่มเติมได้อีก 250 เตียง ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยแบบเต็มพิกัดได้ถึง 550 เตียง จัดว่าเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดของ จ. สุราษฎร์ธานี สำหรับด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุข จ. สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยดำเนินการดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ร่วมกันระดมทำความสะอาดพื้นที่ เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามและได้รับการสนับสนุนเตียงจากวิทยาลัยปกครอง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 100 เตียง เตียงจากหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจำนวน 100 เตียงและเตียงกระดาษจากบริษัท SCG จำนวน 100 เตียง เป็นการเบื้องต้นและได้รับการสนับสนุนมุ้งสนามจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตู้ลิ้นชักใส่ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รวมทั้งผ้าห่มจำนวน 100 ผืนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนรัชประภา จ. สุราษฎร์ธานี
  2. กำหนดพื้นที่การเข้า-ออก ของผู้ไม่เกี่ยวข้องรอบหอประชุมวชิราลงกรณ์ โดยมีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ. สุราษฎร์ธานีกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเฝ้าดูแลตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีการกำหนดประตูเข้า-ออก สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสนามไว้ 1 ประตูเพื่อแยกออกจากบุคคลทั่วไปที่มาใช้บริการของมหาวิทยาลัย
    3.การจัดการขยะของผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้มีการขอความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อให้รับผิดชอบขยะของตนเองรวบรวมใส่ถุงแล้วนำไปทิ้งลงถังขยะของส่วนกลาง จากนั้นจะมีผู้ดำเนินการจัดเก็บขยะของส่วนกลาง วันละ 1 รอบ เพื่อนำไปเผาดำเนินการ โดยสำนักงานสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
    4.ในด้านสาธารณูปโภคมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้องน้ำให้สามารถอาบน้ำพร้อมทั้งดูแลในเรื่องไฟฟ้า-ประปาให้พร้อมใช้อยู่เสมอ
    5.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โทรทัศน์ อุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เนต อุปกรณ์และระบบไฟฟ้ากล้องวงจรปิด รถไฟฟ้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตู้แช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ไมโครเวฟ เฟอร์นิเจอร์สำหรับ Work Station ของทีมแพทย์และคณะดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถกระจายสัญญาณจาก บริษัท TRUE Corporation จำกัด
    6.ด้านอาหารและน้ำดื่ม ดำเนินการโดยโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีโดยืได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ร่วมสนับสนุนน้ำดื่มตราราชพฤกษ์ที่ผลิตเองสนับสนุนเครื่องดื่มประเภทชงบริการตนเองในทุกวัน
    7.ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ได้รับเชื้อมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการใช้พื้นที่ที่สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายความเครียดด้วยการนำ Back Drop แสดงความยินดีกับบัณฑิตที่ใช้เมื่องานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมากั้นพื้นที่แยกผู้ได้รับเชื้อชาย-หญิงและน้ำต้นไม้หลากสีมาประดับตกแต่งเพื่อให้เข้ากับพื้นของโรงพยาบาลสนามที่เป็นสีเขียว-ฟ้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานียังได้จัดกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ติดเชื้อในทุกวัน
    8.การดูแลรับรองบุคลากรทางการแพทย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสนับสนุนห้องพักอาศัยที่มีเตียงนอน ห้องน้ำสัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยปกครอง จ.สุราษฎร์ธานี ในด้านการรับการสนับสนุนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนั้น มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสนับสนุนและบริจาคสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับการพักรักษาตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับการส่งตัวมาจากทุกพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกักตัวรอดูอาการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นรอการกลับบ้านและเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ปรากฏอาการมากนัก

:

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว

อดิสรณ์ เนาวโคอักษร รายงาน

#เพราะเราคือทีมที่ดีที่สุดด้านข่าวสาร

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี