08 เม.ย. 2022

มรส.ผนึกกำลัง UNDP-คาร์กิลล์-ธนาคารออมสิน ผุดโมเดล “นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ” ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรายได้เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชน

วันนี้ (8 เมษายน 2565) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จับมือ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) และ คาร์กิลล์ รวมถึงธนาคารออมสิน ผลักดันโครงการ “นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ” ให้เป็นโมเดลในการลดปัญหาขยะ หวังสร้างแนวปฏิบัติจัดการขยะอย่างถูกต้องสู่ SDG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 3 ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี
.
ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานีมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการสร้างแนวปฏิบัติของนักศึกษา บุคลากร และชุมชน เพื่อนำแนวปฏิบัติที่ได้ขยายผลในการบริหารจัดการขยะไปสู่ครอบครัวและชุมชน การพัฒนาระบบ การบริหารจัดเก็บและจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง เช่น สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพไว้สำหรับต้นไม้เพื่อคืนความสมบูรณ์กลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อเป็นการนำไปสู่การปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย และก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่วางไว้ พร้อมทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีแนวทางการดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการ 1. แนวทางด้านการจัดการขยะต้นทาง 2.แนวทางด้านการจัดการขยะกลางทาง 3.แนวทางด้านการจัดการขยะปลายทาง และ 4.แนวทางเป้าหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของมหาวิทยาลัยและชุมชนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
.
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. กล่าวต่อไปว่า หากมหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการขยะได้ดี เป็นการช่วยเหลือชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยขจัดปัญหาโลกร้อน ประหยัดงบประมาณ เพื่อคุณภาพที่ดีของนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในมิติทรัพยากร มิติเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มิติของเสียและมลพิษ มิติมนุษย์ และสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคใต้ และมรส. จะได้เข้าสู่ในเรื่อง SDG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ตัวชี้วัด ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ ในด้านการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่ (SDGs 1) มาแล้ว การบริหารจัดการขยะ จะเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่ง ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
.
ด้าน ดร.อมรวรรณ เรศานนท์ project manager จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) กล่าวว่า โครงการ “นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ” เป็นโมเดลในการส่งเสริมและทดลองนวัตกรรมเพื่อสร้างธนาคารขยะ และจัดทำนโยบายการจัดการขยะในระดับองค์กรและพื้นที่ เพื่อนำ SDG ลงสู่พื้นที่ (SDG localization) โดยเริ่มจากจะช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชน รอบ ๆ มรภ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีปริมาณมากถึง 63 ตันต่อเดือน และเป็นปัญหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยและชุมชนประสบมานาน โครงการนี้จะจัดสร้างสถานีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal Station) หรือสถานี SDG บนพื้นที่ 3 ไร่ บริเวณหลังหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ พร้อมจะมีการสอนให้ประชาชนในชุมชน ได้รู้จักคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำมาขายให้แก่สถานี SDG เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการขายขยะ ตลอดจนลดปริมาณขยะที่อาจถูกทิ้งลงไปในทะเล ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะจากประสบการณ์จริง
.
ต่อจากนั้นคณะที่ประชุมได้เดินทางไปที่ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อปรึกษาหารือร่วมกับ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับโครงการ “นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ” ต่อไป
:
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ข่าว/ภาพ
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี