09 พ.ค. 2022

มรส. -อบจ.สฎ. ชูยุทธศาสตร์จังหวัด หวังระดมความคิดยกระดับมาตรฐานจังหวัดสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อบจ.สฎ) ยก 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด การศึกษา เกษตรกรรม เศรษฐกิจ/การท่องเที่ยว การกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และหลักธรรมาภิบาล ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมถอดบทเรียน หวังนำนวัตกรรมเทคโนโลยีครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างความสะดวกสบาย ลดขั้นตอน ย่นเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย แก่ประชาชน ยกระดับมาตรฐานจังหวัดสู่เมืองอัจฉริยะ โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง (สุราษฎร์ธานี) และมี นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมศรีวิชัย อาคารกาญจนาภิเษกอนุสรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะได้ระดมความคิด ระดมสมอง ถอดบทเรียน การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยพร้อมส่งเสริมกระบวนการด้านวิชาการ ให้ทุกภาคส่วนร่วมคิดและสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัด สุราษฎร์ธานี การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสร้างบทบาทในชีวิตประจำวัน มีการศึกษาข้อดีและข้อด้อย ตลอดศึกษาความพิเศษของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ความก้าวหน้า ทันสมัย การลดขั้นตอน ลดต้นทุน ประหยัดเวลา การอำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มรูปแบบ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาชีวิต เป็นการยกระดับกระบวนการทำงานในเชิงวิธีคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาจุดยืนของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมการใช้ชีวิต ยังเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างเต็มที่ต่อไปในอนาคต
.
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง (สุราษฎรธานี) สอดคล้องกับนโยบาย 6 ยุทธศาสตร์ สร้างสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ 1. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งความอัจฉริยะ ในด้านการศึกษา การสาธารณสุขและความปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอน 3 ภาษา และสนับสนุนให้ทุกสถานศึกษามีการจัดทำโครงงานเพื่อพัฒนาเด็กและการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาพทั้งระบบ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข 2. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งเกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การจัดการแหล่งผลิตอาหารทะเล ตลอดจนอุตสาหกรรมการแปรรูปที่ต่อเนื่อง 3. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาให้มีการบริหารจัดการตนเองแบบมีส่วนร่วม มีผลิตภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อเสริมรายได้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค 4. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งการกีฬา ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาการกีฬาในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่ พัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาและจัดกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง 5. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการค้นหารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สมัยอาณาจักรเมืองศรีวิชัย สวนโมกขพลารามฯลฯ ดูแล บำรุงรักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ รวบรวมและจัดทำจำลองสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 6. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งธรรมาภิบาล บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล บริหารโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมนำมาแก้ไขและนำไปพัฒนา


สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

สิริวัฒนา น้อยดอนไพร /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร /ภาพ