การใช้ออนไลน์และโซเซียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด
ข้อมูลโครงการ
สืบเนื่องสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานระบบการทำงานของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่ให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น สสว. จึงต้องมีพันธกิจในเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างโอกาสและพัฒนาความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงมีแนวคิดในการจัดทำโครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบรูณาการ (OTOP PLUS) ขึ้น โดยได้มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่
- การพัฒนาผู้ประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- การเพิ่มโอกาสทางการตลาด และ
- การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกและปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริม OTOP
ดังนั้นเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ สสว. จึงได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏในภูมิภาคต่าง ๆ มาทำหน้าที่ดำเนินการตามโครงการเสริมสร้างโอกาสการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้มีความยั่งยืน โดยใช้วิธีแบบออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์กมาสร้างโอกาสทางการตลาด (OTOP Go Online) สำหรับต่อยอดธุรกิจและเชื่อมโยงการตลาดสู่สากล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป
วัตถุประสงค์
- เสริมสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP
- พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ OTOP โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการบนพื้นฐานองค์ความรู้และการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- เพิ่มประสิทธิภาพกลไก และปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์
พื้นที่ดำเนินการ
ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จำนวน 800 ราย ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่าง ๆ ต้องเป็นผู้มีศักยภาพในการพัฒนา หรือตามความเห็นชอบของ สสว.
ช่วงเวลาที่ทำการอบรม 25 สิงหาคม – 5 กันยายน พ.ศ. 2557 ณ.ศูนย์การอบรม
สถานที่ใช้เป็นศูนย์การฝึกอบรม
- มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
- มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- มหาวิทยาลัยราชมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำนวน 800 รายมีชื่อและเว็บไซต์ในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์แบบออนไลน์จำนวน 800 เว็บไซต์
- ผู้ประกอบการมีโอกาสเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านการแข่งขันสู่ตลาด
- ผู้ประกอบการจะได้รับพื้นที่จัดทำเว็บไซต์ และสิทธิในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ตลอดระยะเวลาของโครงการ โดย สสว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
- ผู้ประกอบการจะได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรการจัดทำเว็บไซต์ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจ OTOP
- ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการจะได้รับเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทาง ทั้งจากเว็บไซต์ของ สสว. เว็บไซต์กลาง โซเชียลเน็ตเวิร์ก และเว็บไซต์ของผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรจากโครงการ