29 ต.ค. 2021

ทีมไข่เค็มฯ มรส. จับมือ SRU Shop ชวนเชฟชูเมนูช่วยชุมชน

สสส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ชวนคนรุ่นใหม่ สื่อสารสร้างสรรค์ เสริมไอเดียการตลาดออนไลน์พัฒนาสินค้าชุมชน

ทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ SRU Shop จัดแคมเปญ “ไข่เค็มฯช่วยชุมชน” ตลอดเดือนตุลาคม 2564 และกิจกรรม Live Talk คิดดีช่วยชาวบ้านภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โดยเชิญเชฟชุมชนมาร่วมพูดคุยเล่าประสบการณ์ทำงานพัฒนาชุมชน โดยเชฟอิน-ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ขอ เชฟชุมชน และเชฟพีท-พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ที่ปรึกษาวิศวกรสังคม ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) U2T มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจคิดดีไอดอล

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณชุมชน ผ่านกระบวนการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยใช้โครงการวิศวกรสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน

“ทีมวิศวกรสังคมในโครงการ U2T มรส. ได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยผลิตภัณฑ์บางส่วนจะได้รับการยกระดับเพื่อสร้างมาตรฐานโดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรส. (UBI) หลังจากนั้นสินค้าชุมชนทุกประเภทจะได้รับการพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ SRU Shop โดยเป็นการสร้างพื้นที่ตลาดบนสื่อออนไลน์ทุกประเภทเพื่อเป็นช่องทางให้ชาวบ้านและคนในชุมชนได้นำสินค้าของตนเองหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจในชุมชนมาวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างสมบูรณ์”

เชฟอิน-ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ขอ เชฟชุมชน กล่าวชื่นชมการแนวคิดการพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์เพื่อชุมชน SRU Shop ว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจซึ่งใช้พลังคนรุ่นใหม่และพลังการสื่อสารเป็นเครื่องมือโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นสื่อกลางในการขายสินค้าให้กับชุมชน และในส่วนของเชฟอินก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาชุมชนโดยการยกระดับอาหารและแนะนำวิธีการทำให้อาหารมีความฟิวชั่นมากขึ้น

“การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนทำได้หลายทาง ซึ่งด้วยศาสตร์ทางด้านอาหาร เราเข้าไปช่วยไปเติมเต็มในมุมมองของเรา ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านกับชุมชน ซึ่งนอกจากเราเอาเทคนิคต่างๆไปสอนชาวบ้านแล้ว เราก็ได้มีโอการเรียนรู้และทำความเข้าใจแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้านไปด้วย” เชฟอินกล่าว

เชฟพีท-พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ที่ปรึกษาวิศวกรสังคม มรส. กล่าวว่า ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ U2T ของมหาวิทยาลัย โดยเป็นวิทยากรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน พัฒนาสูตรอาหารและสร้างมาตรฐานอาหารให้กับชุมชน โดยนำทีมวิศวกรสังคมไปร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านทำให้ชุมชนมีช่องทางหารายได้มากขึ้นซึ่งเป็นผลตอบรับที่ดีมาก

าจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท อาจารย์ที่ปรึกษาทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมคิดดีช่วยชาวบ้านว่า กิจกรรมนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการคิดดีไอดอล สสส. โดยนักศึกษาทั้งหมดเป็นวิศวกรสังคมในโครงการ U2T และทำงานผลิตคอนเทนต์การตลาดออนไลน์ร่วมกับทีม SRU Shop โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัย จึงทำให้ผลงานมีความน่าสนใจและสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างรอบด้าน

นายชัญญา สุขชู หัวหน้าทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยการเป็นวิศวกรสังคม ทำให้ได้มีโอกาสลงพื้นที่สร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนและได้สานต่อองค์ความรู้มาทำกิจกรรมร่วมกับ สสส. รวมถึงสมาชิกในทีมทุกคนก็ได้ลองทำงานแบบครบวงจร ทั้งการวางแผนการทำงานร่วมกับชุมชน การผลิตสื่อเพื่อชุมชนและการครีเอทคอนเทนต์เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์

ทั้งนี้ กิจกรรมคิดดีช่วยชาวบ้าน ได้ทำการเผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางสื่ออนไลน์ต่างๆ เช่น แฟนเพจเฟสบุ๊กไข่เค็มอคาเดมี คิดดีไอดอล SRU Shop เพื่อเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันสื่อสารไอเดียช่วยชุมชนอย่างสร้างสรรค์ตลอดเดือนตุลาคมนี้

ข่าว/ภาพ : ทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี