04 ต.ค. 2022

มรส.ผุด “SRU โมเดล” บูรณาการการทำงานจากงานวิชาการ เพื่อตอบสนองชุมชนท้องถิ่น ด้วยศาสตร์พระราชา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) สร้าง “SRU โมเดล” โดยใช้รูปแบบการจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา ภายใต้มหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้สังคม “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” ซึ่งมีการดำเนินงานบริการวิชาการสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการขับเคลื่อนโดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ร่วมกับ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการวิชาการท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำไปสู่การจัดสรร ออกแบบ และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานด้านบริการวิชาการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนงานกิจกรรมเพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรในสถาบันการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้เกิดการบูรณาการการทำงานจากงานวิชาการในรูปแบบงานวิจัย บริการวิชาการ การเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ในอนาคต

:

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า การสร้าง “SRU โมเดล” โดยใช้รูปแบบการจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินด้วยภูมิปัญญาให้เป็นพลัง ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานด้านบริการวิชาการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนงานกิจกรรมเพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรในสถาบันการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้เกิดการบูรณาการการทำงานจากงานวิชาการในรูปแบบงานวิจัย บริการวิชาการ การเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ในอนาคต

:

ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดี ฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ และเครือข่ายสังคม มรส. กล่าวว่า การบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นแนวคิดตามศาสตร์พระราชา ภายใต้แนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การบูรณาการศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ในทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มอาชีพ สามารถเสริมสร้างทักษะกระบวนการให้ประชาชนนำไปปรับใช้เพื่อดำเนินชีวิตประจำวัน และสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ โดยใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ประมาณ 4.37 ไร่ เพื่อการผลักดันให้เกิดการทำงานด้านบริการวิชาการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนงานกิจกรรมเพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากทุกภาคส่วนให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

:

ด้าน ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. กล่าวว่า งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในบริเวณ “SRU โมเดล” จะเป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจากหลายคณะ โดยเฉพาะเรื่องของการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย และเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมทั้งนำงานวิจัย บริการวิชาการ รวมถึงการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมมาผนวกเข้าด้วยกัน

:

ผศ.ดร.ลักษมี ชัยเจริญวิมลกุล ช่วยธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในอนาคต การบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำงาน (WIL) ทักษะวิศวกรสังคม และการพัฒนาพื้นที่สำหรับหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 และตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รวมถึงภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อให้ได้เข้าถึงการเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติจริง และนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

:

ลิงค์:https://youtu.be/jl0sZQtNiQg

นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ภาพ/วิดีโอ/ข่าว

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี