04 ส.ค. 2020

มรส. ดึงวัฒนธรรม “มะพร้าวฝังรก”หวังเชื่อมจิตสำนึกบนเกาะพะงัน

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ชูมะพร้าวเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ร่วมสร้างจิตสำนึก สืบสาน ส่งเสริม สร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ ต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนเกาะพะงัน ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดึงวัฒนธรรม “มะพร้าวฝังรก” ในอดีตสู่การอนุรักษ์มะพร้าว พร้อมถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมะพร้าว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2563 ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าว กิจกรรมการจัดการทุนทางวัฒนธรรม “มะพร้าว” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.-มรส.) เปิดเผยว่าเกาะพะงันเป็นหนึ่งเกาะในอ่าวไทย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความสวยงาม หาดทรายขาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา น้ำตก และทะเล เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยเฉพาะชื่อเสียงจากงานฟูลมูนปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่บริเวณหาดริ้น แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังมีทรัพยากรมะพร้าวของเกาะพะงันที่มีความน่าสนใจด้านลักษณะทางกายภาพของมะพร้าวเกาะพะงันซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นมะพร้าวที่มีผลทรงกลมรี ยาว เปลือกและเส้นใยมีความเหนียว กะลาสีน้ำตาลแก่ เนื้อมะพร้าวขาวใสเนื้อแน่นเป็น 6 ชั้น และมีคติความเชื่อเป็นกุศโลบายเรื่องการปลูกฝังให้ลูกหลานชาวเกาะพะงันมีใจรักในมะพร้าวที่เป็นอาชีพสืบทอดกันมา โดยให้มะพร้าวเป็นมะพร้าวคู่บารมีประจำตน ในสมัยก่อนเวลาทำคลอดจะใช้หมอตำแย เมื่อคลอดลูกแล้วแม่เด็กจะนำรกของทารกมาฝังในดินและนำต้นมะพร้าวไปปลูกบนรกนั้น เรียกกันว่า “มะพร้าวฝังรก” เพื่อเป็นสิ่งบ่งบอกให้เจ้าของรกดูแลหวงแหนมะพร้าวต้นนั้นให้มีความเจริญเติบโต จะเปรียบเสมือนเจ้าของรกที่มีความเจริญรุ่งเรือง เพื่อย้ำเตือนให้เห็นว่าอย่าได้ลืมถิ่นฐาน บ้านเกิดของตนที่ได้ฝั่งรากและรกอยู่ที่นี่เปรียบ “มะพร้าว คือ “ชีวิต” จึงนำแนวคิดนี้มาอนุรักษ์ต้นมะพร้าวบนเกาะพะงันที่ค่อยๆ สูญหายไปตามสถานการณ์

ด้านนายสฤษดิ์ โชติช่วง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน (เกษตรแปลงใหญ่) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เล็งเห็นความสำคัญของการสืบสานวัฒนธรรม “มะพร้าวฝังรก”ของชาวเกาะพะงัน ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาตั้งแต่สมัยอดีตกาล แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมีเรื่องของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวแปรในการดำเนินชีวิต จึงส่งผลให้วิถีการดำเนินอาชีพเกษตรกรของชาวสวนมะพร้าวเปลี่ยนแปลงตาม ทำให้มะพร้าวบนเกาะพะงันลดลงจากการ ถูกทำลายเพื่อกิจกรรมทางการท่องเที่ยวและไม่ได้มีการปลูกทดแทน การได้รับความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการเติมเต็มสิ่งที่พี่น้องชาวเกาะพะงันขาดและได้รับการปรับปรุง ถือว่าเป็นการร่วมต่อยอด พัฒนา สืบสาน สร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมอีกทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพและได้ช่วยเหลือสังคมในกิจกรรมครั้งนี้

สำหรับกิจกรรมการจัดการทุนทางวัฒนธรรม “มะพร้าว” เพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.-มรส.) โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ครั้งนี้ ได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมถ่ายทอดความรู้การนำวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวมาสร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยการนำขุยมะพร้าวที่เหลือใช้ประโยชน์จากการแปรรูปน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีจำนวนมากในแต่ละวันมาผลิตเป็นกระถางจากขุยมะพร้าวสำหรับเพาะพันธุ์ต้นไม้ ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในเกาะลดการใช้กระถางพลาสติก พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุราภรณ์ เรืองวัชรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ร่วมถ่ายทอดความรู้เรื่องการนำน้ำกะทิมะพร้าวมาผลิตเป็นขนมพุดดิ้งกะทิมะพร้าว ซึ่งสามารถสร้างเป็นรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์/ข่าว
อรุณ หนูขาว งานบริการวิชาการ/ภาพ

เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2020-news/2020-08-04-coco{/AdmirorGallery}