17 ส.ค. 2020

มรส.MOUเครือข่ายร่วมสืบสาน อนุรักษ์ พัฒนาข้าวหอมไชยา สู่พืชเศรษฐกิจ จ.สุราษฎร์ธานี

alt

วันนี้​(17 ส.ค. 63)​มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) ร่วมกับหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ข้าวหอมพันธุ์ไชยา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากข้าวหอมไชยาตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(อพ.สธ.มรส.)เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนางานวิจัย พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปและการตลาด ร่วมสืบสานและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา โดยมี ดร.​ สม​ปราชญ์​ วุฒิ​จันทร์​ รอง​อธิการบดี​ฝ่ายบริหาร​มหา​วิทยาลัย​ราชภัฏ​สุ​ราษฎร์​ เป็นประธา​นในพิธี ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ข้าวหอมพันธุ์ไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยได้สนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยกำหนดข้าวหอมพันธุ์ไชยา เป็นพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ตามกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ.) และเพื่อให้มีแนวทางการประสานความร่วมมือและการร่วมดำเนินการที่ชัดเจนบนฐานความประสงค์ร่วมกันของทั้งสามฝ่ายสู่ความร่วมมือ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาการ บูรณาการการศึกษา และสนับสนุนการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากข้าวหอมพันธุ์ไชยาอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุด

รักษา​ราชการ​แทน​อธิการบดี​ มรส.​ กล่าวต่อไปอีกว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 5 ในปีที่ 6 จำนวน 3 กรอบ ประกอบด้วย 1.กรอบสร้างการเรียนรู้ 2. กรอบการสร้างจิตสำนึก และ 3 กรอบการใช้ประโยชน์ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2563 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กำหนดพืชที่ใช้ในการดำเนินงาน คือ มะพร้าวและข้าวหอมไชยา ในส่วนของข้าวหอมพันธ์ไชยา ได้มีผลการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ คือ 1. การทำข้าวพองจากข้าวหอมไชยาโดยวิธีการขึ้นรูปด้วยแผ่นความร้อน 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์โจ้กกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวหอมไชยา 3. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาภูมิปัญญาการปลูกข้าวหอมไชยา 4. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวหอมไชยา 5. สืบสานพันธุ์ข้าวหอมไชยาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 6. ตำนานเรื่องเล่าจากข้าวหอมพันธุ์ไชยา (ภาษาอังกฤษ) 7. ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา และ 8. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจมูกข้าวหอมไชยางอกผสมธัญพืช

ข้าวหอมพันธุไชยา เป็นข้าวพื้นเมืองที่กำลังจะสูญหายไป เพราะขาดการอนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีข้าวพันธุ์อื่นๆเข้ามามากจนทำให้คนขาดความนิยมในการรับประทานข้าวพันธุ์นี้ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่สนใจปลูกก็มีน้อย ทั้งที่ข้าวพันธุ์ไชยา เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อไม่ให้ข้าวสายพันธุ์นี้หายไป มหาวิทยาลัยฯจึงได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากข้าวหอมพันธุ์ไชยา เพื่ออนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้าวหอมพันธุ์ไชยาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไป

เทพ​พิทักษ์​ ยศ​หมึก​ นัก​ประชา​สัมพันธ์​ ภาพ​/ข่าว​
​งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2020-news/2020-08-17-chaiya{/AdmirorGallery}