11 ก.พ. 2021

มรส. ยกระดับเศรษฐกิจ…ตอบโจทย์วิถีผู้บริโภคยุคใหม่นำวัตถุดิบท้องถิ่นผลิตเป็นนวัตกรรมอาหารสร้างรายได้สู่ครัวเรือน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและโครงการพัฒนาผลิตเครื่องแกงสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัย หวังตอบโจทย์วิถีผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน นำวัตถุดิบท้องถิ่นผลิตนวัตกรรมอาหารสร้างรายได้สู่ครัวเรือน โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุกัญญา ไหมเครือแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ในการบันทึกเทปรายการ “ล่องใต้วันนี้” ณ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (NBT) เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
•ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีการขับเคลื่อนโครงการตามพระราโชบาย โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ถ่ายทอดแนวคิดให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีคุณภาพได้รับมาตรฐาน ผลักดันสู่ตลาดกระจายสินค้าไปยังสถานที่ที่หลากหลายและต่อยอดเชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้น จากหลักการและแนวคิดดังกล่าวนี้ จึงได้มีการพิจารณาสรรหาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดจนในที่สุดค้นพบว่าประชาชนในท้องถิ่น ตำบลขุนทะเล ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับมหาวิทยาลัย มีการปลูกพริกจำนวนมากและมีความสามารถด้านการผลิตเครื่องแกงปักษ์ใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นนานาชนิด โดยเฉพาะแกงส้มหรือแกงเหลือง จัดเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคใต้ที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ เดิมมีการผลิตเครื่องแกงส้มเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน แต่ปัจจุบันวิถีความเป็นอยู่ของคนที่นิยมความสะดวกสบายในการบริโภค จึงมีการผลิตเครื่องแกงบดสำเร็จรูปจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น แต่ปัญหาของเครื่องแกงบดสำเร็จรูป คือ ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาสั้นเนื่องจากเครื่องแกงส่วนใหญ่มีความชื้นสูง ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ได้แก่ พริกสด หอม กระเทียม เป็นต้น ประกอบกับกระบวนการผลิตเครื่องแกงโดยทั่วไปไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อ ทำให้เกิดการเสื่อมเสียจากจุลินทรีย์ได้ง่าย เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์น้ำพริกแกงมีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นโดยคงมีสี กลิ่น รสของน้ำพริกแกงที่ดี ใกล้เคียงน้ำพริกแกงสด ได้พัฒนารูปแบบของเครื่องแกงและผลิตภัณฑ์จากเครื่องแกง เพื่อทำให้เครื่องแกง มีรูปแบบที่หลากหลายและเก็บรักษาหรือทำการขนส่งได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตเครื่องแกงรูปแบบต่างๆ ให้กับ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการด้านอาหาร และประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้นำไปต่อยอดสู่ธุรกิจได้
•ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางการเกษตร แต่เนื่องจากสภาพปัญหาผลิตผลทางการเกษตรบางประเภท โดยเฉพาะผลไม้เศรษฐกิจล้นตลาด ผลิตผลมีคุณภาพต่ำหรือแม้แต่การเสื่อมเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็วของผลไม้ ทำให้ราคาของผลผลิตตกต่ำ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรไทย การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการที่ทันสมัย จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการและช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ยกระดับกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและทำให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการนำผลไม้ อาทิเช่น มะพร้าว เงาะ ลูกจาก กล้วย เป็นต้นมา พัฒนาสู่หลักสูตรนวัตกรรมอาหารและโภชนาการ ด้วยการแปรรูปอาหารสู่การสร้างอาชีพต่อไปสำหรับการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและโครงการพัฒนาผลิตเครื่องแกงสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัย ดำเนินงานโดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ฝึกอบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับเกียรติบัตรการเข้าร่วมอบรม ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-7791-3331 ได้ทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดไปในอนาคต

และขอเชิญติดตามรับชมรายการ “ล่องใต้วันนี้” ประเด็น มรส.เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ในวันเสาร์ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น. – 15.30 น. ทางโทรทัศน์ช่อง 11 Digital , เพจ NBT SOUTH และ เพจ NBT SURATTHANI

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
#มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี