ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ชวนชาวบ้านทำขนมไทยยกเป็น “ภูมิปัญญาของความอร่อย”
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จับมือวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ชวนชาวบ้านฝึกทำขนมไทย ทำทานเองในครัวเรือนและต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ พร้อมยกเป็น “ภูมิปัญญาของความอร่อย” ที่ควรได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริม
อาจารย์อนุรัตน์ แพนสกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส. และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำขนมไทยให้กับชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 9 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมการทำและรับประทานขนมไทยให้แพร่หลาย พร้อมต่อยอดไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
“ขนมไทยมีความสัมพันธ์กับคนไทยอย่างแยกไม่ออก มันสะท้อนทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ ของคนไทยมาแต่สมัยสุโขทัย ทั้งยังสะท้อนนิสัยประณีต พิถีพิถันและประดิดประดอยของคนไทยอีกด้วย แม้เดิมทีขนมไทยจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำถวายในรั้วในวัง แต่ในภายหลังก็ได้แพร่หลายออกมาสู่ชาวบ้าน และกลายเป็นภูมิปัญญาแห่งความอร่อยที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนถึงทุกวัน” ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ กล่าว
อาจารย์กิตติกร ไสยรินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขนมไทยที่เลือกนำมาทำในกิจกรรมนี้มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ขนมชั้นและวุ้นแฟนซี เพราะขนมทั้งสองอย่างใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำและมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก จึงเหมาะแก่การทำเป็นอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้จากอาชีพหลักของครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำ สอดรับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง
“การทำขนมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แม้จะมีสูตรของส่วนผสมแต่ก็ไม่ใช่สูตรตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนไปตามรสมือ รสนิยม เทคนิค เอกลักษณ์ ความชำนิชำนาญและการสั่งสมประสบการณ์ของผู้ปรุงแต่ละคน เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของความอร่อยที่มีรายได้เป็นของแถม” อาจารย์กิตติกรกล่าว
นางสาวอาภรภรณ์ กาญจนสุนทร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ตนฝึกทำขนมทั้งสองอย่าง เพราะเห็นว่าขนมทั้งสองประเภททำรับประทานเองในบ้านก็ได้ ทำขายก็ได้
“ขนมชั้นมีรสชาติหวานหอม เหนียวนุ่ม ถูกปากคนไทย แล้วยังเป็นขนมมงคลที่หมายถึงการมีตำแหน่งหน้าเจริญก้าวหน้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถทำและมอบให้กับญาติมิตรในโอกาสมงคลได้ ส่วนวุ้นแฟนซีมีรสชาติอร่อยถูกใจเด็ก ๆ รับประทานง่าย และสามารถประยุกต์ใช้กับแม่พิมพ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมได้ เช่น รูปดอกไม้ ลายการ์ตูนต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น จึงคิดว่าจะลองทำขายดู” นางสาวอาภรภรณ์กล่าว
วันวนัทธ์ วรภู รายงาน
อาจารย์กิตติกร ไสยรินทร์ ข้อมูล / ภาพ