08 พ.ย. 2023

มรส. พร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล ดึงศักยภาพบุคลากรร่วมขับเคลื่อนองค์กร กระตุ้นความคิด ร่วม Happy Work life Balance

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมครุพัฒน์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. เป็นประธานเปิด
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Happy Work life Balance ชีวิตเพื่อความสุขในการทำงานและการขับเคลื่อน มรส. เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 โดยมี อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นวิทยากรให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
:
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม กล่าวว่า ภายใต้บทบาทหน้าที่สำคัญของผู้บริหารและบุคลากรทุกคนใน มรส. คือ เรื่องของภาวะผู้นำ (Leadership) การที่ มรส.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปและมีความยั่งยืนจำเป็นต้องมีผู้นำเชิงบวก (Positive Leadership) กับการมีส่วนร่วมเชิงรุก (Aggressive
Participation Strategy) ภายในองค์กร นับเป็นความท้าทาย (Challenge) ในการขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สามารถแบ่งได้ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 จัดการศึกษาโดยเน้นการพัฒนาอาชีพให้นักศึกษาหรือผู้เรียน (Career Development Education) ทุกหลักสูตรของ มรส. ต้องมีการออกแบบการเรียนการสอนที่มีความชัดเจน
และเป็นรูปธรรมทั้งในเชิงบูรณาการศาสตร์ และการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้กับนักศึกษาหรือผู้เรียน
เพื่อสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในการมีความสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพตามที่ต้องการได้อย่างแน่นอนและมั่นคงตามเป้าหมายที่ต้องการ
ประการที่ 2 การสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (Community Engagement University) การตระหนักถึงสถานะและบทบาทของ มรส. ในการเป็นองค์กรสาธารณะและการรับใช้ท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝังในจิตวิญญาณของบุคลากรทุกคนใน มรส. ให้คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ที่แท้จริงเชิงการพัฒนาของชุมชน ไม่เพียงแต่นักศึกษาหรือผู้เรียน แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยแนวคิดที่เน้นการบูรณาการการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน
ประการที่ 3 การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน โดยผู้บริหารจะต้องพยายามเปลี่ยน Mindset ของทุกคนให้ตระหนัก และเข้าใจตรงกันว่า ถ้าองค์กรอยู่ได้
บุคลากรก็อยู่ได้ด้วยเช่นกันและมุ่งสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา มรส. ให้เดินไปข้างหน้าตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และทุกภาคส่วนต้องมองเป้าหมายเดียวกัน และยึดประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก
ประการที่ 4 การพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร (Reskill and Upskill) ทั้งในด้านทักษะ ของอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อให้มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอาจารย์ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากการเป็นผู้สอนมาเป็นผู้ที่คิดวางแผนและการให้คำแนะนำ (Coaching) ให้นักศึกษาหรือผู้เรียน ภายใต้นโยบายและทิศทางการพัฒนาการจัดการศึกษา และการเรียน การสอนของ มรส.
ประการที่ 5 ความท้าทายเรื่องการจัดหาทรัพยากรเนื่องจากการพัฒนา มรส. ภายใต้นโยบายการพลิกโฉม มรส. ในอนาคต จำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณค่อนข้างสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ในการทำงาน และรวมถึงการพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีศักยภาพรองรับรูปแบบ
ทำงาน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
:
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า 5 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี … จากวิทยาลัยครู สู่มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างวิศวกร
สังคม ความสำเร็จในอนาคตของ มรส. จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ “คน” ผู้บริหารบุคลากรทั้งสายวิชาการ และสายสนับสนุนวิชาการมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนา มหาวิทยาลัยในบทบาทที่แตกต่างกัน บุคลากรจึงจำเป็นต้อง “ตื่นรู้” … “รู้เท่าทัน” และปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการปรับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และชุมชนนักปฏิบัติรวมถึงการพัฒนา สภาพแวดล้อมดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมความร่วมมือ และการแบ่งปันซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยก้าวเข้าสู่ทศวรรษ ที่ 6 ในปี 2567 โดยมหาวิทยาลัยมีนโยบาย หรือ Flagship หลักที่ต้องการจะขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

  1. ด้านนักศึกษา ในปี 2567 จะเป็นปีแห่งการพัฒนานักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการจัดการเรียนการสอน ให้นักศึกษามีประสบการณ์ตรง ทุกสาขาที่เรียน สร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักศึกษา ส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นผู้นำที่มีส่วนร่วมทุกกิจกรรม คิดเพื่อนักศึกษา เพื่อต่อยอด พัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติ
  2. ด้านบุคลากรสายวิชาการ เป็นปีแห่งการพลักดันสายวิชาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ ในทศวรรษที่ 6
  3. ด้านบุคลากรสายสนับสนุน ในปีแรกของการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 ของ มรส. จะเป็นปีแห่งการยกระดับประสิทธิภาพของการทำงานผ่าน 3 กระบวนการ คือ ปรับปรุงการทำงานการยกระดับการทำงาน และการลดขั้นตอนการทำงาน ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการอบรมในวันนี้ที่ต้องการให้บุคลากรเข้าใจบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งของโลก ของประเทศ และของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การนำพา มรส. ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 อย่างมั่นคง และเติบโตไปด้วยกัน

    #สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ข่าว/ภาพ