รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. ร่วมลงนามคำรับรองการปฎิบัติราชการ ประจำปี 2565 พร้อมมอบนโยบาย I-SRU และร่วมลงนาม มรภ.ภูเก็ต ร่วมมือทางวิชาการ ผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์
วันนี้เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการถ่ายทอดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติแผนความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ การพัฒนาท้องถิ่น การผลิตและพัฒนาครู การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ตามนโยบายการบริหาร การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มุ่งหวังที่จะสร้างอัตลักษณ์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีให้เป็นวิศวกรสังคม ที่สามารถเป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนักนวัตกร โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. เป็นประธาน และเป็นผู้ร่วมลงนาม ร่วมกับคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (กบ.) ซึ่งประกอบด้วย คณะ สำนัก และสถาบัน จำนวน 13 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า ตามปรัชญาที่แน่วแน่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินด้วยภูมิปัญญาให้เป็นพลัง ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยให้เป็นรูปธรรม 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การพัฒนาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นยกระดับการบริการวิชาการเพื่อรับใช้ชุมชนท้องถิ่นและยกระดับงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์เชิงพื้นที่ 2. การผลิตและพัฒนาครู โดยมุ่งเน้น ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการผลิตและพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพ ที่ได้มาตรฐานวิชาชีพและมีจิตวิญญาณความเป็นครูที่สมบูรณ์ 3. การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งเน้น ยกระดับการจัดการศึกษาสู่การเรียนรู้ทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในอนาคต พร้อมพัฒนาบัณฑิตให้สามารถสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง 4. การพัฒนาระบบบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้น ยกระดับการบริหารจัดการเพื่อท้าทายอนาคต ยกระดับมหาวิทยาลัยเป็น Smart University ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางดิจิทัล
.
รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ มีนโยบาย I-SRU การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดย
I (integration) หมายถึง การบูรณาการ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก นำศาสตร์ความรู้ตามสมรรถนะของบุคคลมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
S (Sustainable) หมายถึง ความยั่งยืนสู่ภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง ด้วยการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ขจัดปัญหาความยากจน บนพื้นฐานการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน
R (Re-Profile) หมายถึง การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกับ 6 จุดเน้น ซึ่งได้แก่ 1. ด้านเกษตรคุณภาพและอาหารแปรรูป 2. การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3. ระบบสุขภาพและสังคมเป็นสุข 4. ผลิตและพัฒนาครูมืออาชีพ 5. ระบบธุรกิจและโลจิสติกส์ และ 6. ระบบดิจิทัล
U (University Engagement) หมายถึง การสร้างหน่วยพันธกิจสัมพันธ์ร่วมกับสังคม เพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ เผยแพร่ พร้อมวัดผลกระทบของชุมชนสู่การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นต่อไป
พร้อมกันนี้ เวลา 13.00 น. วันนี้(26 ม.ค.65)ที่ศูนย์ฝึกทักษะนักกฎหมายภาคปฏิบัติ ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. พร้อมด้วย ผศ.เพชร ขวัญใจสกุล
คณบดีคณะนิติศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นำโดยผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตระดับ “นิติศาสตรมหาบัณฑิต” และหลักสูตรอื่นในระดับบัณฑิตศึกษา พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมไปถึงการวิจัยในทางนิติศาสตร์ และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวิจัยในเชิงพื้นที่
อีกทั้งการบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมระหว่างหน่วยงานทั้งสอง และจัดสิ่งสนับสนุนสิ่งการเรียนรู้ที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรอื่นในระดับบัณฑิตศึกษา
:
สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี