ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดันสินค้าชุมชนสู่สินค้า OTOP ลงพื้นที่ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
หน่วยบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ร่วมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน OTOP แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ หวังสร้างรายได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ชูปลาส้ม ปลาดุกร้า ไข่สมุนไพรใบเตย ไข่เยี่ยวม้า น้ำพริกปลาทู ตลอดผ้าบาติกเพ้นท์ลาย และสบู่สครับจากกากกาแฟ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วยคณะดำเนินงานเป็นผู้ขับเคลื่อน เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งเน้นการค้าการลงทุน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์จังหวัดที่สะท้อนความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ให้การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สินค้าหรือการบริการให้เกิดจุดเด่นที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดด้วยการยกระดับสินค้าให้เกิดมาตรฐานและนำไปสู่สินค้าหนึ่งตําบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
.
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหาหลักที่พบจากการลงพื้นที่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งยังขาดการพัฒนาสินค้าหรือการบริการและการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาด ที่ยังไม่สร้างความแตกต่างและยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่กลุ่มผู้ประกอบการเองยังขาดความรู้ความเข้าใจของการออกแบบและพัฒนา รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อันจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้เข้าไปผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ในด้านการปรับปรุง ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่ารวมถึงการผลักดันให้สินค้าได้มาตราฐานผลิตภัณฑ์ทั้งมาตราฐาน อย. และฮาลาล
#คณะวิทยาการจัดการ
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน
คณะดำเนินโครงการบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ /ภาพ