สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมงานดนตรีไทยการอุดมศึกษา ครั้งที่ 46 “ศรีวิชยคีตา ปัญญาสมวรรษราชภัฏสุราษฎร์ธานี”
———————————————
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรและทรงซอด้วงร่วมกับนิสิต นักศึกษา ทรงบรรเลงเพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี เพลงโหมโรงไอยเรศ และเพลงกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชทานพระราชดำรัสแก่นักดนตรีไทยและผู้ร่วมงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 46 “ศรีวิชยคีตา ปัญญาสมวรรษราชภัฏสุราษฎร์ธานี” มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 64 สถาบัน มีนิสิต นักศึกษา รวมทั้งครูดนตรีไทยเข้าร่วมงาน กว่า 1,300 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ มุ่งส่งเสริม สร้างความตระหนักคุณค่าของดนตรีไทยมรดกวัฒนธรรมชาติที่สืบทอดมาช้านาน ซึ่งในโอกาสนี้ มี ศาสตราจารย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) กล่าวคำกราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี
.
สำหรับงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 46 “ศรีวิชยคีตา ปัญญาสมวรรษราชภัฏสุราษฎร์ธานี” จัดขึ้นโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2566 เพื่อส่งเสริมให้ นิสิต นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะการบรรเลงดนตรีไทย วัฒนธรรมประจำชาติ ตลอดการเปิดโลกทัศน์ เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ อีกทั้ง สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานด้านดนตรีไทย จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในระดับชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษจากวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี เติบโตเป็นสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยแห่งการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรม
เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มีพันธกิจสำคัญในการมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้คู่คุณธรรม มีสำนึกความเป็นไทย และความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
.
กิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วย การบรรเลงดนตรีไทยวงเดี่ยวสถาบันและวงกลุ่มสถาบัน ณ ห้อง Auditorium อาคารทีปังกรรัศมีโชติ ห้องประชุมธรรมโฆษณ์ อาคารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม หอศิลป์ธรรมโฆษณ์ และหอประชุมวชิราลงกรณ ชมการแสดงชุด ศรีวิชยคีตา โดยกลุ่มสถาบันภาคใต้ การแสดงชุด แขกขาวเถา โดยกลุ่มสถาบันภาคกลาง 7 การแสดงชุดจระเข้หางยาวทางสักวา ออกระบำศรีวิชัย โดยกลุ่มสถาบันภาคกลาง 1 การแสดงชุด แขกขาวเถา โดยกลุ่มสถาบันภาคกลาง 4 การแสดงชุดสักวาจีนเก็บบุปผา โดยกลุ่มสถาบันภาคกลาง 3 การแสดงและขบวนอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานดนตรีไทยอุดมศึกษา พร้อมพิธีส่งมอบตราสัญลักษณ์ให้กับปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อส่งมอบตราสัญลักษณ์งานดนตรีไทยอุดมศึกษา แก่ผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าภาพงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 47 ต่อไป
———————————————
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร/ภาพ