31 พ.ค. 2011

มรส. ขับเคลื่อนโครงการ SRU D N A หวังสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์แก่นักศึกษา

มรส. รณรงค์สร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ “พี่ดี-น้องดี” กับนักศึกษา ใช้รุ่นพี่เป็นพฤติกรรมต้นแบบขับเคลื่อนพฤติกรรมพึงประสงค์ของรุ่นน้อง พร้อมสร้างเป็น เอสอาร์ยู ดี เอ็น เอ

ผศ.ดร. ณรงค์ พุทธิชีวิน อฺธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการเรียนการสอน และการอบรมบ่มเพาะโดยครูอาจารย์แล้ว รูปแบบกิจกรรมที่นักศึกษาของ มรส. ได้เข้าร่วม หรือแม้แต่การประพฤติปฏิบัติของนักศึกษารุ่นพี่ก็เปรียบเหมือนต้นแบบ หรือเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญของนักศึกษารุ่นน้อง ซึ่งนักศึกษารุ่นพี่ถือได้ว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ระเบียบวินัย หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ประสบผลสำเร็จ ทั้งในเรื่องของการแต่งกาย ระเบียบวินัยจราจร มารยาททางสังคม การปฏิบัติตนเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ และยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ความตระหนักในระเบียบวินัยเหล่านี้เกิด ขึ้นกับนักศึกษารุ่นน้องด้วย มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้มีโครงการ SRU D N A (เอสอาร์ยู ดี เอ็น เอ) ขึ้น เพื่อให้นักศึกษารุ่นพี่สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษารุ่นน้อง และเพื่อให้นักศึกษารุ่นน้องเรียนรู้การปฏิบัติตนเป็นนักศึกษาที่ดีจากรุ่น พี่ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีคุณลักษณะที่พึง ประสงค์สอดคล้องกับหลักเบญจลักษณ์ (คุณลักษณะ ๕ ประการของบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี) อย่างสมบูรณ์ อันประกอบด้วย ๑) มีความรู้และประสบการณ์ตามมาตรฐานของหลักสูตร ๒) มีระเบียบคิดที่ดี กล้าคิด คิดสร้างสรรค์ ๓) มีจิตวิญญาณในการทำงาน มุ่งมั่น หนักเอา เบาสู้ ๔) มีจริยธรรมในวิชาชีพ และ ๕) มีจิตสาธารณะ ให้คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่หนึ่ง

 

“ในช่วงเปิดเทอมใหม่ที่มีนักศึกษาใหม่จำนวนมาก กอปรกับเป็นนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัย และช่วงเวลาที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างและปลูกฝังแนวคิด แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษาใหม่ รวมถึงเพื่อเน้นย้ำการประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของรุ่นพี่ และ “เพราะรุ่นน้องมักทำตามอย่างรุ่นพี่” ดังนั้น “รุ่นน้องจะดีได้…รุ่นพี่จึงต้องดีด้วย” ประกอบกับอีกนัยหนึ่งก็คาดหวังว่า การรณรงค์ให้นักศึกษาปฏิบัติตามระเบียบวินัยผ่านการใช้รุ่นพี่เป็นกลไกในการ ขับเคลื่อนจะสามารถทำให้เกิด “พฤติกรรมต้นแบบ” และ “พฤติกรรมที่พึงประสงค์” ได้ คล้ายกับการสร้างรูปแบบของพฤติกรรมอันดีที่จะต้องมีคุณลักษณะในการสืบทอด คล้ายกับสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่แม้จะมีการผลัดใบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ก็ยังคงดีเอ็นเออันเป็นที่พึงประสงค์เช่นนี้อยู่ตลอดไป” อธิการบดี มรส. กล่าว