นักศึกษา การจัดการทางวัฒนธรรม มรส. ต่อยอด “กะลามะพร้าว” สู่การสร้างนวัตกรรม “กัวซา” เสริมความงาม
นักศึกษา สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวข้อ “มะพร้าวในบางกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชุมชน” ส่งต่อความรู้ เพิ่มคุณค่าเอกลักษณ์วัฒนธรรมภาคใต้ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม หวังฝึกปฏิบัติพัฒนาทักษะความสามารถนักการจัดการทางวัฒนธรรม ในการสร้างนวัตกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่น โดยมี ผศ.ดร.สมทรง นุ่มนวล อาจารย์ประจำสาขาการจัดการทางวัฒนาธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายศุภชาติ ศรีเทพ ผู้ประกอบการสวนลุงสงค์ นายเชาวลิต ชูเสน่ห์ อดีตกำนันตำบลบางใบไม้ ร่วมงานเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ สวนลุงสงค์ ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
•
ด้านนางสาวเกตน์สินี เกิดสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม ประธานโครงการฯกล่าวว่า ตนเองได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงด้วยการนำศาสตร์องค์ความรู้มาบูรณาการ เสริมสร้างประสบการณ์ตรงในการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการเกิดวัฒนธรรมในชุมชน ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการจัดการทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อบูรณาการเรียนการสอนรายวิชาการจัดการโครงการทางวัฒนธรรม
•
ส่วนนางสาวณัฐกานต์ ล้วนเส้ง คณะกรรมการดำเนินโครงการ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินโครงการได้นำแนวคิดวิศวกรสังคมมาผนวกเข้ากับการดำเนินงาน โดยเป็นไปหลักการเป็นนักคิด ถึงที่มาของกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เหลือใช้ในท้องถิ่น หลังจากมีการนำเนื้อมะพร้าวไปใช้ประโยชน์แล้ว การเป็นนักสื่อสารซึ่งได้มีการสื่อสารวิธีคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น การเป็นนักประสาน ได้มีการชวนเพื่อน จูงมือน้อง ขอร้องพี่ มาร่วมคิด ร่วมทำไปด้วยกัน และนวัตกร ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกัวซาและลูกกลิ้งยกกระชับผิวหน้าจากกะลามะพร้าวเพื่อเสริมความงาม
สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย : ข่าว
นภัทร ส้มแก้ว : ถ่ายภาพ
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร:ถ่ายวิดีโอ/ตัดต่อวิดีโอ