มรส.ระดมสมองทุกภาคส่วนสร้างแผนพัฒนามหาวิทยาลัย อธิการบดีชี้ ต้องก้าวพ้น ๔ กับดักในการคิดแผน
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระดมสมองผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากรทุกภาคส่วน ร่วมสร้างแผนพัฒนามหาวิทยาลัย อธิการบดีชี้ ๔ กับดักที่นักคิดแผนต้องก้าวข้ามให้พ้น แนะเคล็ดลับสำคัญในการทำแผน ต้องทำใจให้ว่างเพื่อมองเห็นอนาคตอย่างกระจ่างชัด ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำแผนกลยุทธ์ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี” ณ อ่าวนาง คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ มีผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรเข้าร่วมประมาณ ๗๐ คน โดยมี ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดี มรส. เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “สี่ปีแห่งการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี” ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เป็นผู้กล่าวรายงาน
นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ ธานี ผศ.ดร.ประโยชน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจัดเวิร์กชอปในวันนี้ เพราะต้องการทำแผนกลยุทธ์และแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ชัดเจน และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นำแต่ละความคิดมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดภาพว่าเราจะเดินไปข้างหน้า อย่างไร ผลที่ได้จักก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ณรงค์กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษว่า อย่ายอมให้ตนติดกับดักของการคิดแผนพัฒนา ซึ่งกับดักที่คนคิดแผนมักติดกับมีอยู่ ๔ กับดัก ได้แก่ ๑. เกิดคำถามว่าคิดแล้วจะนำไปใช้จริงหรือ เมื่อคนคิดแผนไม่แน่ใจว่าจะนำไปใช้จริงหรือไม่จึงไม่ได้ทุ่มเทหรือจริงจัง กับการคิดแผน เพียงคิดให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้น ๒. มองเห็นข้อจำกัดจึงเกิดความกังขาว่าจะทำได้หรือไม่ วิธีก้าวพ้นจากกับดัก คือ ต้องมองว่านี่เป็นเพียงข้อจำกัดที่สามารถก้าวข้ามได้ด้วยปัญญา อย่ายอมให้กับดักเหล่านั้นมาฉุดรั้งเราไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ๓. ใครเป็นเจ้าของความคิด ถ้าเป็นความคิดของคนที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นความคิดของคนที่เราชอบ เราจึงจะเห็นด้วย ซึ่งเราสามารถก้าวพ้นจากกับดักนี้ได้ด้วยการมองว่าทุกคนในองค์กรเป็นคนใน ครอบครัวเดียวกันกับเรา มีชะตากรรมร่วมกัน อีกทั้งเมื่อแผนบรรลุแล้ว แผนพัฒนานี้ย่อมกลายเป็นแผนร่วมกันของทุกคนในองค์กร มิใช่แผนของใครคนใดคนหนึ่ง และ ๔. คาดหวังกับมันมากเกินไปจึงเกรงว่าจะรู้สึกผิดหวัง ทุกข์ใจและท้อแท้หากแผนนี้ไม่เป็นจริง
วิธีก้าวข้าม คือ อย่ากังวลใจกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพียงทำปัจจุบันขณะให้เต็มที่และดีที่สุด และทั้งหมดนี้คือ ๔ กับดักสำคัญที่คนคิดแผนต้องก้าวข้ามให้พ้น “สิ่งสำคัญในการร่วมกันระดมสมองจัดทำแผนพัฒนาในครั้งนี้ คือ ต้องทำใจให้ว่าง เปรียบเสมือนการส่องกล้องมองไปข้างหน้า หากมีแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าบางหรือหนาบังเลนส์กล้องอยู่ ก็ย่อมมองทางข้างหน้าไม่ชัดเจน พร่ามัว แต่หากดึงแผ่นฟิล์มทิ้งไปเสีย สิ่งที่มองผ่านเลนส์ก็ย่อมกระจ่างชัดและสามารถมองเห็นอนาคตได้อย่างทะลุ ทะลวง” อธิการบดี มรส. กล่าว