14 ต.ค. 2011

มรส.จับมืออียิปต์ผุดเวทีวิจัยนานาชาติ ประชันงานวิจัยทั่วโลก-ตอบโจทย์ท่องเที่ยวแนวใหม่

 

 

มหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จับมือ มหาวิทยาลัยออคโทเบอร์ ซิกซ์ แห่งอียิปต์ ผุดเวทีวิจัยนานาชาติที่เกาะสมุย ระดมนักวิจัยทั่วโลกประชันผลงานวิจัยร่วมร้อยชิ้น ตอบโจทย์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ ลงลึกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า มรส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยออคโทเบอร์ ซิกซ์ (October 6 University) แห่ง สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จะร่วมกันจัดประชุมวิจัยระดับนานาชาติ (Research Symposium) เรื่อง “From Cultural Heritage to Beach / Island Tourism: An Alternative Management Approach for Sustainability” ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มรส. อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนองานวิจัย พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัยจากนักวิจัยนานา ประเทศ และเป็นการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย ตลอดจนความร่วมมือศึกษาค้นคว้างานวิจัยในระดับนานาชาติ โดยจะเน้นไปที่งานวิจัยด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อธิการบดี มรส. กล่าวต่อไปว่า จะมีการเผยแพร่งานวิจัยจากทั่วโลกกว่า ๑๐๐ ชิ้นในงานนี้ ทั้งการนำเสนอปากเปล่า การนำเสนอโปสเตอร์ การนำเสนอรูปเล่มและนิทรรศการ นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “From Cultural Heritage to Beach / Island Tourism: An Alternative Management Approach for Sustainability” โดย นายวิชัย ศรีขวัญ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และการเสวนาในหัวข้อ Koh Samui: Then and Now and How It Can be Sustainable โดย ดร.กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วณพนนท์ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ

“ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบ โตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแหล่งกระจายรายได้และมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชีย แปซิฟิกและแอฟริกา อีกทั้งรูปแบบการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนจากการทัศนาจรที่มีกิจกรรมเข้มข้น มาเป็นการพักผ่อนและการซึมซับบรรยากาศแทน ทำให้นักท่องเที่ยวมีเวลาที่จะลงลึกในสาระความรู้ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชุมชน จึงเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเป็นการสร้างมาตรฐานการท่อง เที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งงานวิจัยที่นำเสนอบนเวทีวิจัยนานาชาติในครั้งนี้จะตอบโจทย์ความต้องการ ดังกล่าว” ผศ.ดร.ณรงค์กล่าว