มรส.รุกคืบแก้ปัญหาความยากจนเมืองฝนแปดแดดสี่
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดยคณะกรรมการโครงการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท ตามพระราโชบายของมหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการ ได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาความยากจน ณ พื้นที่ ตำบลนาคา และตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่การดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพครัวเรือนยากจน ตาม “ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งได้มีการดำเนินงานลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการพัฒนา ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ถ่ายทอดกระบวนการจัดการขาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน การทำบัญชีครัวเรือน การกำหนดราคาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของชุมชน ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน อย. GMP และ GAP ตลอดการส่งเสริมช่องทางการสร้างรายได้ ตั้งแต่ปี 2562
ล่าสุดได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพบผู้นำกลุ่มและเกษตรกรในชุมชน เมื่อระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2563 โดยมี ผศ.พงศกร ศยามล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก คณะวิทยาการจัดการ ดร.รัชฎาพร ไทยเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ชลิดา เลื่อมใส่สุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ อาจารย์เมธินี ศรีกาญจน์ พร้อมด้วยอาจารย์ธีราวรรณ จันทร์แสง อาจารย์สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ เป็นผู้ดำเนินโครงการ ดังนี้ 1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่ว ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พื้นที่ปลูกผักแบบปลอดสารพิษ พบว่าชุมชน ได้นำความรู้จากการถ่ายทอดของคณะทำงานตั้งแต่ปีที่ผ่านมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านมีความรู้และความเข้าใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางการจัดจำหน่าย ส่งผลให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็งและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้มีการผลิตสินค้าใหม่ในชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น พริกไทย และสะตอดอง ซึ่งได้หารือกับทาง มรส. เรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามน่าสนใจ และช่องทางการจัดจำหน่ายประเภทออนไลน์ 2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านทะเลนอก ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง มีผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาเค็มฝังทราย กะปิ ปลาหวาน ปลาเค็มแดดเดียว เป็นต้น ซึ่งมีวิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน แต่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย
โดย มรส. ได้นำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตให้ได้มาตรฐาน การจัดทำตราสัญลักษณ์สินค้าของชุมชนให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านเข้าใจและสามารถผนึกกำลังในการเร่งการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายไปยังตลาดภายนอกชุมชน และช่องทางตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น หวังสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ชาวบ้านสามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน 3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำขนมบ้านโตนกรอย ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เปิดเผยว่า การตั้งกลุ่มของชุมชนมีการผลิตสินค้าชุมชน เช่น ขนมกล้วยนัว ขนมเค้ก ขนมกล้วยฉาบ ขนมทองม้วน และขนมไข่ โดยมีการจำหน่ายเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่บ้านโตนกรอยเท่านั้น ทำให้มีรายได้จำกัด แต่เมื่อได้รับการอบรมความรู้จาก มรส. ทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจถึงกระบวนการจัดการตั้งแต่การผลิตขนมที่ถูกต้องตามสุขลักษณะทั้งผู้ผลิตรวมถึงสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ แผนการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนวิธีการขอมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.) การจัดทำมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการบริโภค รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย
สำหรับการดำเนินโครงการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท ตามพระราโชบายของมหาวิทยาลัย ณ พื้นที่ ตำบลนาคา และตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ยังคงดำเนินการการพัฒนาท้องถิ่น ให้เข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่องต่อไป
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
คณะทำงานโครงการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท /ภาพ
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/01-2020-news/2020-11-18-GMP{/AdmirorGallery}