มรส. ดันกาบหมากสู่เชิงพาณิชย์ … โดยวิศวกรสังคมสร้างคุณค่าจากวัสดุในชุมชนให้เกิดมูลค่า
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนอำเภอดอนสัก ดันกาบหมากสู่เชิงพาณิชย์ จากวัสดุธรรมชาติเหลือทิ้งในชุมชนนำมาสร้างนวัตกรรมเป็นภาชนะอาหารจากกาบหมากแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมส่งมอบเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารทดแทนการใช้พลาสติก แก่ชุมชนโรงเรียนชีวิต ณ บ้านสายรุ้ง ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563
ผศ.ดร. เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรส. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้วยการนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งศาสตร์วิชาที่นำมาถ่ายทอดนั้นต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในอนาคต ขณะนี้ มรส. ได้สร้าง “วิศวกรสังคม” โดยมี 4 ประการหลักในการดำเนินงาน คือ 1. มีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุและผลของปัญหาได้ 2. มีความสามารถด้านการสื่อสารถ่ายทอดองค์ความรู้ตามศาสตร์สู่ประชาชนในชุมชนด้วยภาษาที่เข้าถึง เข้าใจ ได้ระหว่างกัน 3. มีความสามารถด้านการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง และ 4. มีทักษะด้านการสร้างนวัตกรรมตามองค์ความรู้ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้จริง ซึ่งการเป็นวิศวกรสังคมเป็นการต่อเติมภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
ด้าน ดร.วรรณวิชณีย์ ทองอินทราช อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มรส.ผู้ ดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับชุมชน กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระแสรักษ์โลกและรักสุขภาพ ของผู้บรึโภคทั่วโลกที่ให้ความสนใจอย่างมาก ด้วยเหตุผลเรื่องการรักษาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการ ลด ละ เลิก การใช้ พลาสติก ในชีวิตประจำวัน เพราะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของสังคมไทยและสังคมโลก และเมื่อได้ทำการศึกษาพื้นที่อำเภอดอนสัก ได้พบกาบหมากซึ่งถือเป็นวัสดุธรรมชาติที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากตันหมาก และสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารทดแทนการใช้พลาสติกได้ นอกจากกาบหมากจะไร้สารตกค้างแล้ว ยังมีสีสันเป็นอักลักษณ์เฉพาะตัวและมีกลิ่นหอม ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ ที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แถมยังใช้กับเตาไมโครเวฟและเตาอบได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
จากหลักการข้างต้น สาขาบริหารธุรกิจจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากให้กับชุมชน โรงเรียนชีวิต ณ บ้านสายรุ้ง ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งโดยเฉพาะกาบหมากที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่และยังสามารถเป็นซ่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนพร้อมยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในการเรียนการสอน พร้อมนี้ ได้มีการส่งมอบโมเดลเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจากกาบหมาก ซึ่งผลิตโดยสาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส.
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ภาพ/ข่าว
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/01-2020-news/2020-06-02-Reduce-plastic{/AdmirorGallery}