28 ส.ค. 2014

การใช้ออนไลน์และโซเซียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด


ข้อมูลโครงการ

สืบเนื่องสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานระบบการทำงานของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่ให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น สสว. จึงต้องมีพันธกิจในเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างโอกาสและพัฒนาความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงมีแนวคิดในการจัดทำโครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบรูณาการ (OTOP PLUS) ขึ้น โดยได้มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่

  1. การพัฒนาผู้ประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  2. การเพิ่มโอกาสทางการตลาด และ
  3. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกและปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริม OTOP

ดังนั้นเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ สสว. จึงได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏในภูมิภาคต่าง ๆ มาทำหน้าที่ดำเนินการตามโครงการเสริมสร้างโอกาสการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้มีความยั่งยืน โดยใช้วิธีแบบออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์กมาสร้างโอกาสทางการตลาด (OTOP Go Online) สำหรับต่อยอดธุรกิจและเชื่อมโยงการตลาดสู่สากล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เสริมสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP
  2. พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ OTOP โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการบนพื้นฐานองค์ความรู้และการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  3. เพิ่มประสิทธิภาพกลไก และปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP

กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์

พื้นที่ดำเนินการ

ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จำนวน 800 ราย ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่าง ๆ ต้องเป็นผู้มีศักยภาพในการพัฒนา หรือตามความเห็นชอบของ สสว.

ช่วงเวลาที่ทำการอบรม 25 สิงหาคม – 5 กันยายน พ.ศ. 2557 ณ.ศูนย์การอบรม

สถานที่ใช้เป็นศูนย์การฝึกอบรม

  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  7. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  8. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  9. มหาวิทยาลัยราชมหาสารคาม
  10. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  11. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
  12. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
  13. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
  14. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  15. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
โดยในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีที่ได้ร่วมจัดการอบรมดังกล่าว จะจัดอบรม “การใช้ออนไลน์และโซเซียลเน็ตเวิร์กเพื่อโอกาสทางการตลาด” ในวันที่ 1 กันยายน 2557 ณ ห้องบานบุรี ชั้น 2 อาคารทีปังกรรัศมีโชติ ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยี ชั้น 5 อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 077-226002

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำนวน 800 รายมีชื่อและเว็บไซต์ในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์แบบออนไลน์จำนวน 800 เว็บไซต์
  2. ผู้ประกอบการมีโอกาสเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านการแข่งขันสู่ตลาด
  3. ผู้ประกอบการจะได้รับพื้นที่จัดทำเว็บไซต์ และสิทธิในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ตลอดระยะเวลาของโครงการ โดย สสว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
  4. ผู้ประกอบการจะได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรการจัดทำเว็บไซต์ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจ OTOP
  5. ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการจะได้รับเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทาง ทั้งจากเว็บไซต์ของ สสว. เว็บไซต์กลาง โซเชียลเน็ตเวิร์ก และเว็บไซต์ของผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรจากโครงการ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.otop.nrru.ac.th