31 มี.ค. 2018

นศ. ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ลงชุมชนจัด 24 โครงการเพื่อแผ่นดิน

ว่าที่บัณฑิตรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี สุดประทับใจทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เผย เห็นรอยยิ้มเยาวชนของชาติดีใจที่มีสื่อการเรียนการสอนเสริมสร้างสติปัญญา ด้าน ดร.พลกฤต ตอกย้ำคุณค่าของบัณฑิต รปศ.ต้องเป็น “ผงธุลีที่มีค่าต่อแผ่นดิน”

เมื่อวานนี้(30 มีนาคม 2561) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดประชุมสัมมนาภายใต้ชื่อ 24 โครงการเพื่อแผ่นดินซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการประเมินโครงการของนักศึกษา ณ ห้อง GA101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีพลตรีไพโรจน์ มณีอ่อน สมาชิกสภาปฏิรูป สนช  และ ดร.ชุมพล แก้วสม ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร เป็นวิทยากร

ดร.พลกฤต แสงอาวุธ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เปิดเผยว่าจากกการได้ร่วมพูดคุยกับนักศึกษาในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องและตอบโจทย์คุณค่าต่อแผ่นดิน ซึ่งได้ข้อสรุปว่านักศึกษาต้องการดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด 24 โครงการเพื่อแผ่นดินตามแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 หลังจากนั้นได้ตกผลึกทางความคิดว่านักศึกษาต้องเป็น“ผงธุลีที่มีค่าต่อแผ่นดิน” ดังนั้นจึงร่วมกันหาพื้นที่เป้าหมายซึ่งได้กำหนดไว้ 3 ประเด็นคือ 1. ต้องมุ่งเน้นโรงเรียนที่มีขนาดเล็กตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารและลำบากขาดอุปกรณ์การเรียน 2. วัดวาอารามที่เก่าแก่ไร้คนบูรณะ 3. ชุมชน/สังคมขนาดเล็กหรือผู้พิการ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ได้ทำอย่างมีระบบตามแนวคิดทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ด้วยการลงพื้นที่และประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ซึ่งมีผลการตอบรับความต้องการที่จะให้โครงการนี้เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งสิ้น 48 แห่ง ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมกันลงพื้นที่และนำผลการสำรวจมาอภิปรายเรียงลำดับความลำบากและความต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

โดยวิธีการของการขับเคลื่อนงบประมาณคือการใช้ Social Engagement ใช้หลักการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งงบประมาณจะเกิดจากคนในพื้นที่ที่มีฐานะแต่ไม่มีเวลาและเต็มใจตั้งใจ พร้อมทั้งเข้าใจในเนื้องานของโครงการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ทั้ง 24 พื้นที่ ใช้เวลาทำโครงการต่อกิจกรรม 4 คืน 5 วัน ซึ่งนักศึกษาต้องลงพื้นที่และอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชน เพราะต่อไปในอนาคตนักศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้สภาพจริงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รับรู้ถึงความลำบากและวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้ความเป็นกัลญาณมิตรและน้ำใจที่งดงามจากชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการนำอาหารมาช่วยสนับสนุนนักศึกษาตามอัตภาพ นับได้ว่าความรู้สึกดังกล่าวจะหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้ โดยผลสรุปโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้นำชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ ดร.พลกฤตกล่าว

ด้าน นายภัทรพล บุญนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังทองสามัคคี อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัด สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปพัฒนาซ่อมแซมวัสดุ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการเรียนการสอนว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากหลังจากที่โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนน้อยลงทุกปี จึงคิดว่าโรงเรียนคงจะต้องปิดการศึกษา แต่เมื่อนักศึกษาในโครงการ 24 โครงการเพื่อแผ่นดิน
เข้าไปช่วยพัฒนาบูรณะวัสดุอุปกรณ์การเรียน และยังได้สร้างสื่อการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้ สถานการณ์จึงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือมีผู้ปกครองทยอยนำบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นระยะ เพราะบรรยากาศและบริเวณโรงเรียนที่เปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้ นักศึกษากลุ่มดังกล่าวยังปรับปรุงห้องปฐมพยาบาล ห้องน้ำให้ถูกสุขลักษณะและสร้างสื่อการเรียน BBL ให้โรงเรียนด้วย สุดท้ายนี้ในนามของตัวแทนพื้นที่กาญจนดิษฐ์ อยากเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ทำโครงการในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆและอยากให้โครงการดังกล่าวมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

ส่วน นางสาวศิริพิณ ประพันธ์ ตัวแทนนักศึกษาภาคกศ.บท. ได้กล่าวถึงกิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ตามโครงการ 24 โครงการเพื่อแผ่นดินว่า เบื้องต้นได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการและสถานที่ที่ควรลงไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเมื่อสรุปผลจำนวนพื้นที่ทีต้องเข้าไปพัฒนาแล้วจึงร่วมกับคณะทำงานโครงการเพื่อนนักศึกษาเข้าไปดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่ได้เห็นเมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้นคือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อน้องๆได้เข้าไปสัมผัสกับสื่อการเรียนการสอนที่เราได้สร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง นอกเหนือจากการได้ปฏิบัติตามทฤษฎีความรู้ในรายวิชาประเมินผลโครงการแล้ว ยังได้ความรู้สึกที่ซาบซึ้งและประทับใจคือ น้องๆและผู้ปกครอง หรือแม้แต่อาจารย์ในโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ได้กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า “ไม่อยากให้กลับ” และ “เมื่อไหร่จะมาอีก” อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวหาซื้อที่ไหนไม่ได้ สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่านโดยเฉพาะอาจารย์พลกฤต ที่ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาในทุกๆเรื่อง นอกจากนี้ขอกราบขอบพระคุณมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสเข้ามาศึกษาในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งทำให้นักศึกษาทุกคนมีประสบการณ์ในการเรียนรู้บริบทชุมชน และเรียนรู้ชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อหาในตำราเรียน

ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี