มรส.มอบต้นกล้า หวัง นศ.ช่วยลดมลพิษ คืนผืนป่าสู่ชุมชน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.วัฒนา รัตนพรหม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ให้เกียรติมอบต้นกล้า ให้กับนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษเพื่อวิชาการและงานอาชีพ ที่ผ่านการสอบวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิตและใช้ความรู้ความสามารถจากการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาไปพัฒนาตนเอง พัฒนางาน องค์กร ชุมชนท้องถิ่น ให้มีความเจริญ เฉกเช่นเดียวกับความเจริญงอกงามของต้นไม้ที่ปลูก และสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น โครงการดังกล่าวได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้มหาบัณฑิตที่จบการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันปลูกต้นไม้ โดยการช่วยกันปลูกคนละ 1 ต้น
ตลอดอายุขัยของไม้ยืนต้น 1 ต้น จะสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่น ๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อย่างก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซโอโซน ได้อีก นอกจากนี้ต้นไม้ 1 ต้น ยังสามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่าง ๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี ต้นไม้ 1 ต้น จะปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่คนและสัตว์จำเป็นต้องใช้ในการหายใจออกมา ได้ถึง 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปี (ความต้องการก๊าซออกซิเจนของคน = 130,000 ลิตร/คน/ปี) ต้นไม้ยังสามารถป้องกันแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ น้ำที่ระเหยจากการคายน้ำที่ใบใบยังช่วยดูดความร้อนจากบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิบริเวณนั้นลดลงได้ถึง 3-5 องศาเซลเซียส หากปลูกต้นไม้ไว้บริเวณบ้านจะช่วยลดอุณหภูมิรอบ ๆ บ้านได้ถึง 2 – 4 องศาเซลเซียส นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ที่จะได้จากการปลูกต้นไม้เพียง 1 ต้น หากปลูกรวมกันหลาย ๆ ต้น เป็นสวน เป็นป่า เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ เป็นระบบนิเวศ จะก่อเกิดประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมายมหาศาลให้แก่มวลมนุษย์ ธรรมชาติ และโลกของเรา ดร.วัฒนา กล่าว
เทพพิทักษ์ ยศหมึก รายงาน
บัณฑิตวิทยาลัย มรส. ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/2018-09-11-Community-forest{/AdmirorGallery}