30 ส.ค. 2019

จากพี่สู่น้อง…ร่วมสืบสานวัฒนธรรมถิ่นใต้ รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า

alt

สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดโครงการค่ายวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสังคม หวังถ่ายทอดวัฒนธรรมถิ่นใต้จากพี่นักศึกษาสู่น้องนักเรียนในชุมชน เห็นคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รู้จักหวงแหนประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่กับประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ณ ชุมชนบ้านท่าไทบน ตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.สรัญ เพชรรักษ์ ประธานหลักสูตรสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรส. เปิดเผยว่า โครงการค่ายวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสังคม เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรสาขาการจัดการทางวัฒนธรรมที่ต้องการให้นักศึกษาสามารถจัดการโครงการทางวัฒนธรรม ในรูปแบบของค่ายทางวัฒนธรรม ซึ่งภาคใต้เป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามีความหลากหลายทางด้านศาสนา ชาติพันธุ์ ขนมธรรมเนียมประเพณี และวิถีการดำรงชีวิต มีศิลปะการแสดงที่มีความโดดเด่นของภาคใต้ คือ ศิลปะการแสดงมโนรา เป็นนาฎศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาศิลปะการแสดงภาคใต้มีความยั่งยืน มีท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะการแสดงภาคใต้

ประธานหลักสูตรสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการจัดโครงการค่ายครั้งนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้นำความรู้จากศาสตร์ที่เรียนมาดำเนินการก่อนสำเร็จการศึกษา โยได้ร่วมกันเลือกสถานที่ ณ ชุมชนบ้านท่าไทบน ตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นชุมชนที่ผู้คนอพยพมาจากต่างถิ่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนที่มาจากอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการนำวิถีชีวิตแบบเดิมมาปรับใช้และผสมผสานกับพื้นที่มีทรัพยากรที่หลากหลาย ทั้งสำเนียงภาษาใต้ การละเล่นพื้นบ้าน และการใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนมาปรับให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ด้านนายวัชรพงษ์ มะหมัดเหม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ดำเนินโครงการค่ายวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนกับเพื่อนๆ ได้ดำเนินงานด้วยการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะของพี่สู่น้องที่อาศัยอยู่ในชุมชนท้องถิ่นบ้านท่าไทบน ด้วยกิจกรรม 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ฐานครบเครื่องเรื่องโนรา จะอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของโนรา ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย จังหวะดนตรี และท่ารำ ฐานที่ 2 ฐานการละเล่นพื้นบ้าน มีการนำการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ชักกะเย่อ เดินกะลา เป่ากบ ปิดตาตีปีบ มาร่วมเล่นเพื่อเป็นการสืบสาน ฐานที่ 3 ฐานกะลาทาสี เป็นการนำวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่า และฐานที่ 4 ฐานในบ้านอาหาร เป็นการนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาปรับเป็นอาหาร ซึ่งทั้ง 4 ฐานเป็นการนำความรู้ด้านวัฒนธรรมมาจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
ดร.สรัญ เพชรรักษ์ ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราาฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2019-news/2019-08-30-Culture{/AdmirorGallery}