29 พ.ย. 2019

มรส. ลงพื้นที่ติดตามผลการแก้ปัญหายากจนเกษตรกร เปิดสถานที่ท่องที่ยวบ้านภูริน สนองพระบรมราโชบาย ร.10

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ( มรส. ) ติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏตามพระบรมราโชบาย โดยลงพื้นที่เป้าหมายโครงการของกลุ่มเกษตรกรบ้านภูริน ติดตามผลการดำเนินงานที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจริง ชาวบ้านยิ้มรับชื่นชม สร้างความรู้ ความเข้าใจ ผนวกงานวิชาการร่วมกับการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ณ บ้านภูริน ตําบลคลองสระ อําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการสนองงานตามพระราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา, ด้านการพัฒนาท้องถิ่น, ด้านการผลิตและพัฒนาครู และด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ซึ่งการประชุมเป็นการรับฟังปัญหาอุปสรรค พร้อมรับข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน อีกทั้งการดำเนินงานของ มรส. เป็นการบูรณาการระหว่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนร่วมกับการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มรส. กล่าวว่า การติดตามผลเชิงลึกในครั้งนี้ ได้มีการนำคณะกรรมการดำเนินการติดตามเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรบ้านภูริน ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวขึ้น เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรของประชาชน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเวทีประชาคมหาข้อสรุปประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนร่วมจัดทำฝายน้ำภูริน เพื่อการมีน้ำใช้ในการเกษตรแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 300 ครัวเรือน 2. ประเด็นการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลไม้และการตลาด ได้ดำเนินการพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผงทุเรียนสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ไชรัปกล้วยหอม ผลิตภัณฑ์ปั้นสิบสับปะรด และผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในชุมชนนำมาแปรรูป ตลอดจนการพัฒนาฉลากสินค้าและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. ประเด็นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรแบบครบวงจร ด้วยการส่งเสริมผลักดันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก เช่น น้ำตกภูริน การชมดาวที่หน้าผา จัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว และสร้างศักยภาพอาชีพไกด์จากชาวบ้านในพื้นที่ ให้รู้สึกเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีในชุมชน ตลอดจนร่วมสร้างความรู้ ด้านการบริหารจัดการแปลงเกษตรต้นแบบ ยังประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ในการสร้างรายได้แก่ครอบครัวจากกิจกรรมดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านว่าที่ร้อยตรี เอกชัย ชูนาค ปลัดอำเภอกาญจนดิษฐ์ เปิดเผยว่า ในนามของประชาชน ตําบลคลองสระ อําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดการท่องเที่ยวชุมชน ภูริน การดําเนินงานตามการบูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการในพื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อําเภอ องค์การบริหารส่วนตําบส และอุทยานน้ําตกสี่ขีด เพื่อสนองพระบรมราโชบายด้าน การศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่มุ่งเน้นระดมสรรพกําลังทุกภาคส่วนให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กับชุมชน พื้นที่ตำบลคลองสระนับเป็นพื้นที่ที่มีศัยกภาพในการพัฒนาอันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของ ทรัพยากรธรรมชาติ น้ํา ดินและป่าไม้ ประกอบกับความเข้มแข็งและสามัคคีของชุมชนทําให้เกิด โครงการพัฒนาตามพระบรมราโชบาย นับเป็นโครงการที่มีศักยภาพและต่อยอดโครงการอื่น ๆ ไปสู่การสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทางทีมทํางานจึง ท่องเที่ยวชุมชนและจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์พิทักษ์ภูริน” โดยชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นทีมพี่เลี้ยงและมีทีมที่ปรึกษา

ส่วน ดร.สิญาธร นาคพิน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านภูรินตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่มีต้นทุนด้านความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความหลากหลาย มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรบ้านภูรินพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตร เพื่อส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรบ้านภูริน ให้มีรายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพเกษตรโดยการนํากิจกรรมการท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงกับการเกษตร โดยการนําองค์ความรู้ที่มีในมหาวิทยาลัยลงไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ให้มีการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมของเกษตรกรที่หลากหลายครบวงจร พัฒนาอาชีพและส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การจําหน่ายและช่องทางการตลาด เสริมสร้างพลังในการพัฒนาอาชีพของเกษตรตามแนวประชารัฐ โดยกิจกรรมประกอบด้วยกิจกรรมพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ําเพื่อการเกษตรแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน กิจกรรมบริหารจัดการแปลงเกษตรปลอดสารเคมี กิจกรรมแปรรูปพืชเศรษฐกิจของชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า กิจกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการตลาด กิจกรรมศึกษาทุนและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชน กิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการ

เทพพิทักษ์ ยศหมึก ข่าว
นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มรส. ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2019-news/2019-11-29-purin{/AdmirorGallery}