นศ.พืชศาสตร์ มรส.ช่วยเกษตรกรเหยื่อปาบึกคุมโรคพืช1แสนไร่
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีส่งช่วยกรมส่งเสริมการเกษตร ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อควบคุมศัตรูพืชที่อาจเกิดขึ้นและเข้าทำลายต้นพืชหลังน้ำลด ร่วมกันผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป้าหมายรวม 100,000 กิโลกรัม สำหรับใช้ในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูจำนวน 100,000 ไร่
ผศ.พรพรหม พรหมเมศร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า หลักสูตรพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ส่งนางสาวนวรัตน์ นุราช นางสาวสุดารัตน์ ทองแท้ นางสาวอมรา งามเลิศ และนางสาวเกศสุวรรณ ชูอนนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาพืชศาสตรนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม มีหน้าที่ขยายพันธุ์ พวกตัวห้ำ ตัวเบียน และ เชื้อรา ที่ป้องกันกำจัดศัตรูพืช นักศึกษาจึงมีโอกาสช่วยหน่วยงานในการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเชื้อตัวที่ช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าของพืชโดยเฉพาะในไม้ผล
ด้าน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลจากพายุปาบึกที่เคลื่อนเข้าประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 ส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ประสบอุทกภัย จากการลงสำรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กรม คาดว่าจะมีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 192,485 ไร่ แยกเป็น พื้นที่เพาะปลูกข้าว 34,567 ไร่ พืชไร่ 3,884 ไร่ รวมถึงพืชสวนและอื่นๆ 154,034 ไร่ พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนประจวบคีรีขันธ์และยะลา มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืชหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งในไม้ผล (ส้มและทุเรียน) ต้นพืชจะแสดงอาการใบสลด ใบเริ่มเหลืองและร่วง หากขุดจะพบอาการรากเน่า และบางครั้งพบอาการเน่าบริเวณโคนลำต้น โดยมีน้ำเยิ้มสีน้ำตาลแดงไหลซึมออกมา หากอาการลุกลามรอบลำต้น ต้นจะตาย ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมผสมรำข้าว 4 กิโลกรัม ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน โรยรอบโคนต้นประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ล้างให้สปอร์ออกมา แล้วกรองเอาน้ำที่มีสปอร์ไปพ่น รด หรือราด บริเวณโคนต้น ส่วนโรครากเน่า-โคนเน่าในพืชผักใช้ส่วนผสมของเชื้อ 1 กำมือ (ประมาณ 30 กรัม) โรยรอบโคนต้น
เทพพิทักษ์ ยศหมึก ข่าว
ผศ.พรพรหม พรหมเมศร์ ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษำร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/2019-02-01-Help-farmers{/AdmirorGallery}