มรส. ร่วมกับจ.สุราษฎร์ฯ จัดอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรและเงาะ” แก่วิสาหกิจชุมชน
เมื่อ 2 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา คณาจารย์และนักศึกษาสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ชุมชน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร จากฟ้าทะลายโจรและเงาะโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร. ลักษมี ชัยเจริญวิมลกุล ตัวแทนของคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวเปิดงานว่า ฟ้าทะลายโจรและเงาะถือเป็น product champion ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสรรพคุณทางยาและสารสำคัญมากมาย โครงการนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเสริมความมั่นคงทางอาชีพและสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพร และเป็นการนำสารสำคัญไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศชาติให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้าน ดร.โชติกา ภู่พงศ์ ตัวแทนวิทยากรจากสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างพบว่าบ้านเขานาในเป็นพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อจำหน่าย ทีมวิทยากรจาก มรส. จึงได้เข้าไปช่วยแนะนำความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติมในส่วนของการเก็บสมุนไพร เทคนิคการสกัดสมุนไพรที่เหมาะสม และสอนวิธีการทำครีมอาบน้ำและโลชั่น เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งให้คำปรึกษาปัญหาในการทำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา รวมไปถึงการนำสเปรย์กำจัดหนอนที่มีซาโปนิน ซึ่งเป็นสารสำคัญจากเปลือกเงาะไปเผยแพร่อีกด้วย กิจกรรมนี้ยังเป็นการบูรณาการระหว่างการเรียนการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการเข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นอกจากนี้กิจกรรมในวันดังกล่าว ยังได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกร อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งมาเข้ารับการดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในเช่นกัน
ส่วนด้านคุณหนูเรียง จีนจูด หัวหน้าวิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านเขานาใน (กลุ่มนางไพร) เปิดเผยว่า ในชุมชน ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเพื่อทำสินค้าขายอยู่แล้ว เช่น ลูกประคบน้ำมัน ครีมนวดคลายเส้น ขมิ้นผง เป็นต้น กิจกรรมที่ มรส. จัดขึ้นจึงเป็นการต่อยอดความรู้ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งทางกลุ่มมีความตั้งใจในการเรียนรู้เป็นอย่างมากเพื่อทำใช้เองและมีความตั้งใจที่จะทำเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพื่อจำหน่ายต่อไป
เทพพิทักษ์ ยศหมึก รายงาน
ดร.โชติกา ภู่พงศ์ ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/2019-03-04-Product-processing{/AdmirorGallery}