29 เม.ย. 2019

มรส. สร้างทักษะการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวแก่ชาวเรือพุมเรียง หวังนักท่องเที่ยวมอบความไว้วางใจ

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ( มรส. ) รับพลังหนุนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำแก่ผู้ประกอบกิจการทางเรือ ตำบลพุมเรียง อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยว เกิดการใช้บริการ สร้างรายได้ แก่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

ดร.สิญาธร นาคพิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มรส. ผู้รับผิดชอบโครงการพุมเรียงโมเดล กิจกรรมที่ ๗ การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวเทศบาลตำบลพุมเรียง กล่าวว่า ด้วยบริบทของพื้นที่ตำบลพุมเรียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มีการท่องเที่ยวด้วยยานพาหนะประเภทเรือเป็นหลัก จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นหรือผู้ประกอบกิจการทางเรือที่นำนักท่องเที่ยวโดยสารเรือชมบรรยากาศหรือทำกิจกรรมทางทะเล มีทักษะและทราบวิธีการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเบื้องต้นในกรณีที่ประสบภัยทางเรือหรือเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ รวมถึงการทราบช่องทาง ขั้นตอน และวิธีการติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการกู้ภัยได้อย่างถูกต้องและทันถ่วงที สำหรับกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ คือ ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้รับการฝึกฝน จนสามารถบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว พร้อมนำนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย นักท่องเที่ยวเกิดความไว้วางใจ เลือกใช้บริการนำเที่ยวของคนในชุมชนท้องถิ่น เป็นการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว และในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นนักสื่อความหมายหรือไกด์ท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับเรือพร้อมนำเสนอด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนของตนได้อย่างถูกต้อง จนเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ด้านนายธีระยุทธ ขำยินดี ครูฝึกป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ด้วยลักษณะเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการขยายวงกว้างของประเภทความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือการเกิดอุบัติเหตุจากทุกช่องทาง ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ของสถานที่นั้นๆ เป็นสำคัญ ดังนั้น การที่คนในชุมชนท้องถิ่น ได้รับความรู้ มีการเพิ่มทักษะ และพัฒนาความสามารถในการให้ความช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ เป็นสิ่งจำเป็น การถ่ายทอดความรู้ครั้งนี้ ได้มีการแนะนำวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติทางน้ำ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการนำอุปกรณ์การช่วยเหลือที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ในชุมชน มาจัดวางในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ โดยมีนักศึกษาจากสาขาการจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. ร่วมเป็นวิทยากร

สำหรับ โครงการพุมเรียงโมเดล ดำเนินโครงการภายใต้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนพุมเรียงในทุกมิติ เพราะชุมชนพุมเรียงมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีเส้นทางท่องเที่ยวสู่ดินแดนที่เรียกว่า อาณาจักรศรีวิชัย มีทุนทางสังคมและทรัพยากรในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่อารยธรรมของจังหวัดนำมาสู่การดำเนินกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามร้อยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงและท่านพุทธทาสภิกขุ การส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปะมวยไชยา การอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าพุมเรียง การส่งเสริมมหกรรมอาหารพื้นถิ่น การพัฒนาระบบสื่อความหมาย การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด เพื่อมุ่งสู่พุมเรียง Zero Waste ต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ภาพ/ข่าว

ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี{AdmirorGallery}news-evens/2019-04-30-pumreang{/AdmirorGallery}