11 มิ.ย. 2019

มรส. สร้างสูตรมาตรฐานอาหารพื้นถิ่นพุมเรียง หวังส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยว

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี( มรส. )สร้างสูตรมาตรฐานอาหารพื้นถิ่นชุมชนพุมเรียงมุ่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความสมดุลชูอาหารเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนสู่นักท่องเที่ยวภายใต้โครงการพุมเรียงโมเดล

อาจารย์วัชรี พืชผล ประธานสาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้สนับสนุนอาจารย์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประกอบอาหารและศิลปะการตกแต่งจานให้เป็นผู้แนะนำความรู้ด้านวิชาการและทักษะปฏิบัติเพื่อร่วมกันพัฒนาสูตรอาหารพื้นถิ่นพุมเรียงแก่ชาวบ้านด้วยการหยิบยกเอาอาหารที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ความเป็นอยู่และสะท้อนขนมธรรมเนียมประเพณี โดยครั้งนี้นำมาสร้างสูตรจำนวน 6 เมนู ได้แก่ ผัดไทยสองใจ จันทร์หลอน ยำชาวเล ข้าวมันแกงกุ้ง ขนมหม้อแกงไข่เค็มไชยา และขนมติมานี่ ซึ่งแต่ละเมนูเป็นอาหารที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำรับประทานในครอบครัวและจำหน่ายอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีการปรุงรสตามความชอบของตน จึงต้องมารวมกลุ่มเพื่อปรับสูตรให้เป็นมาตรฐานของท้องถิ่น ร่วมถึงแนะแนวทางการจัดตกแต่งจานเพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหาร สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว จะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และยังเป็นการสร้างสูตรมาตรฐานสำหรับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นหรือผู้ที่สนใจได้อีกด้วย

ด้านนางสุวิมล จำเนียร หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมสร้างสูตรอาหารพื้นถิ่นพุมเรียง กล่าวว่า ชาวบ้านชุมชมพุมเรียงมีความรู้ความสามารถและความถนัดด้านการทำอาหาร แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดตกแต่งศิลปะอาหารเพื่อเกิดความสวยงาม รวมถึงวิธีการและช่องทางการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้น การได้รับความรู้จากการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทำให้ชาวบ้านได้มีการรวมตัวสร้างสูตรมาตรฐานอาหารพื้นถิ่น ซึ่งเป็นประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยิ่ง เพราะในอดีตมีการปรุงรสตามความพึงพอใจของผู้ปรุง และมีวิธีการจำหน่ายในลักษณะเดิมๆ แต่หลังการเข้ารับการอบรม หากได้รับการติดต่อให้เป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร ชาวบ้านในชุมชนก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอาหารให้กับท้องถิ่นได้

สำหรับโครงการพุมเรียงโมเดล ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการภายใต้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนพุมเรียงในทุกมิติ เพราะชุมชนพุมเรียงมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีเส้นทางท่องเที่ยวสู่ดินแดนที่เรียกว่า อาณาจักรศรีวิชัย มีทุนทางสังคมและทรัพยากรในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่อารยธรรมของจังหวัดนำมาสู่การดำเนินกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามร้อยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงและท่านพุทธทาสภิกขุ การส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปะมวยไชยา การอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าพุมเรียง การส่งเสริมมหกรรมอาหารพื้นถิ่น การพัฒนาระบบสื่อความหมาย การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด เพื่อมุ่งสู่พุมเรียง Zero Waste ต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2019-news/2019-06-11-Model{/AdmirorGallery}