08 ส.ค. 2019

มรส. รับการติดตามผลเชิงลึกร่วมตอบโจทย์แก้ปัญหายากจน เกษตรกรบ้านภูรินยิ้มรับชื่นชมการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ( มรส. ) รับการติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏตามพระบรมราโชบาย โดยลงพื้นที่เป้าหมายโครงการของกลุ่มเกษตรกรบ้านภูริน ติดตามผลการดำเนินงานที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจริง ชาวบ้านยิ้มรับชื่นชม สร้างความรู้ ความเข้าใจ ผนวกงานวิชาการร่วมกับการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 3 สำนักงานอธิการบดี

ดร.พงษ์จันทร์ คล้ายอุดม รักษาราชการแทนอธิการบดี เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการสนองงานตามพระราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา, ด้านการพัฒนาท้องถิ่น, ด้านการผลิตและพัฒนาครู และด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ซึ่งการประชุมเป็นการรับฟังปัญหาอุปสรรค พร้อมรับข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน อีกทั้งการดำเนินงานของ มรส. เป็นการบูรณาการระหว่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนร่วมกับการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวต่อไปว่า การติดตามผลเชิงลึกในครั้งนี้ ได้มีการนำคณะกรรมการดำเนินการติดตามเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรบ้านภูริน ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวขึ้น เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรของประชาชน ณ ต.คลองสระ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะดำเนินการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีเวทีประชาคมหาข้อสรุปประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนร่วมจัดทำฝายน้ำภูริน เพื่อการมีน้ำใช้ในการเกษตรแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จำนวน 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 300 ครัวเรือน 2. ประเด็นการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลไม้และการตลาด ได้ดำเนินการพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผงทุเรียนสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ไชรัปกล้วยหอม ผลิตภัณฑ์ปั้นสิบสับปะรด และผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในชุมชนนำมาแปรรูป ตลอดจนการพัฒนาฉลากสินค้าและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. ประเด็นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรแบบครบวงจร ด้วยการส่งเสริมผลักดันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก เช่น น้ำตกภูริน การชมดาวที่หน้าผา จัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว และสร้างศักยภาพอาชีพไกด์จากชาวบ้านในพื้นที่ ให้รู้สึกเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีในชุมชน ตลอดจนร่วมสร้างความรู้ ด้านการบริหารจัดการแปลงเกษตรต้นแบบ ยังประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ในการสร้างรายได้แก่ครอบครัวจากกิจกรรมดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย ข่าว
ผศ.เตชธรรม สังข์คร ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราาฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2019-news/2019-08-08-Phurin{/AdmirorGallery}