สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. จัดซ้อมดนตรีไทยรวมกลุ่มภาคใต้
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เครือข่ายดนตรีไทยภาคใต้ จาก 10 สถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมซ้อมดนตรีไทยรวมกลุ่มภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมการแสดงในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2564 ภายใต้ชื่องาน ““สังคีตศิลป์สุนทรีย์ เทิดพระบารมีจอมราชัน”
ในการซ้อมดนตรีครั้งนี้จะมีคณาจารย์และนักศึกษาที่เป็นตัวแทนจากภาคใต้ที่จะเข้าร่วมแสดงกว่า 150 คน และยังมีตัวแทนจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะเจ้าภาพงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 46 ในปี 2565 อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับและให้โอวาทแก่นักศึกษาที่มาร่วมซ้อมขับร้องและบรรเลงเพลงในครั้งนี้ว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นการรวมวงจากทุกมหาวิทยาลัยแบบนี้ เป็นความยากและท้าทายที่ต่างวงต่างซ้อมมา ต่างคนต่างเล่นเครื่องดนตรีคนละอย่าง แต่มีเป้าหมายเดียว นั่นคือ เล่นเพลงเดียวกันจในเกิดเพลงมีความไพเราะ ไม่ผิดเพี้ยนเหมือนถูกถ่ายทอดออกมาจากวงดนตรีที่เริ่มต้นฝึกซ้อมด้วยกันมาตั้งแต่แรก กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้นั้นสอดคล้องกับนโยบายวิศวกรสังคมด้านที่ 3 คือ มีความสามารถด้านการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้โดยปราศจากการขัดแย้ง การทำงานร่วมกับผู้อื่น และจากที่ทุกคนมาร่วมกันในวันนี้ เป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้คนทั้งประเทศเห็นว่า แม้จะมาจากต่างมหาวิทยาลัย ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม เราคนใต้ก็สามารถทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวได้”
ด้านอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 46 ต่อจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จึงจะเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อนำมาเตรียมความพร้อมและจัดงานให้มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด ในครั้งนี้ก็ได้อำนวยความสะดวกแก่ทุกสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้ในเรื่องของการฝึกซ้อมรวมกลุ่ม โดยการซ้อมขับร้องและบรรเลงเพลงของกลุ่มภาคใต้จะเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้”
ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรมยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเพลงที่วงดนตรีไทยกลุ่มภาคใต้จะขับร้องและบรรเลงในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 45 นั้น ได้แก่เพลง ชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี และเพลง “เพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี เป็นบทเพลงภาคบังคับที่ทุกวงจะต้องแสดง บทเพลงนี้มีบทร้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประพันธ์ทำนองโดยอาจารย์มนตรี ตราโมท ซึ่งเป็นเพลงพระราชทานเพื่อบรรเลงในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาทุกครั้งที่มีการจัดงาน ส่วนอีกเพลงคือเพลง พัธวิสัยซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเทอดพระเกียรติและสดุดีพระมหากษัตริย์ซึ่งเข้ากับแก่นแนวคิดของการจัดงานในครั้งนี้” อาจารย์ธีรพันธุ์สรุป
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. : ภาพ/ข่าว
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี