09 พ.ย. 2021

สป.อว. ตรวจเยี่ยม U2T มรส. เตรียมพร้อมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิดด้วยยุทธศาสตร์ BCG

เมื่อวันที่ (8 พ.ย. 64) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) รับการตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(U2T) จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สป.อว.) โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงาน และผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T ร่วมต้อนรับ ณ ห้องโถง ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า ในการรับการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้รายงานผลการดำเนินงานกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศ (Community Big Data) ด้านการพัฒนาทักษะผู้เข้าร่วมโครงการ ด้านการจัดการสื่อสารโครงการ และด้านการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และการแก้ปัญหาความยากจน รวมถึงความคืบหน้าการดำเนินงานในภาพรวมการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การยกระดับสินค้า OTOP การสร้างพัฒนา Creative Economy การยกระดับการท่องเที่ยว การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน Health Care เทคโนโลยีด้านต่างๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม Circular Economy การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน ให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน นางสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในการตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในครั้งนี้มี นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายพันธ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ และคณะ โดยได้ร่วมกันหารือรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงาน โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาดำเนินโครงการ ให้เกิดการจ้างงานประชาชน บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาให้มีงานทำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 การจัดทำข้อมูล Thailand Community Big Data การสรุปภาพรวมผลสำเร็จของการดำเนินการโครงการฯ ในพื้นที่ 82 ตำบล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รวมถึงการจัดทำข้อเสนอโครงการ U2T ในระยะต่อไปด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพัน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี Project Manager โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร รวม 82 ตำบล มีการจ้างงานทั้งสิ้น 2,177 อัตรา ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การยกระดับสินค้าโอทอป (OTOP) การสร้างพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ การยกระดับการท่องเที่ยว การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน การนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ไปช่วยชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
เทพพิทักษ์ ยศหมึก /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร /ภาพ
เทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ /ออกแบบ