16 ธ.ค. 2021

มรส. ร่วมผลักดันดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์สู่นิทรรศการศิลปะ “ภายใต้ กุศโลบาย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช : สู่อุบายวิธีการสร้างกระบวนการคิดที่เหนือจริงทางทัศนศิลป์ร่วมสมัย”

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมผลักดันผลงานดุษฎีนิพนธ์ของบุคลากรสายวิชาการ แสดงผลงานเชิงประจักษ์ พร้อมยกระดับศักยภาพความเป็นผู้สอนพัฒนาความสามารถผ่านการตกผลึกความคิด มุ่งมั่น วิริยะ อุตสาหะ เพื่อร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย โดยมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นประธานกล่าวเปิดการแสดงนิทรรศการศิลปะ “ภายใต้ กุศโลบาย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช : สู่อุบายวิธีการสร้างกระบวนการคิดที่เหนือจริงทางทัศนศิลป์ร่วมสมัย” ของ นายมนัสชัย รัตนบุรี ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นบุคลากรสายวิชาการ สังกัดสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)
.
นายมนัสชัย รัตนบุรี กล่าวว่า นิทรรศการในครั้งนี้ เป็นนิทรรศการ (เฉพาะกิจ) ที่มีผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์มาจากผลงานวิจัยหัวข้อ “กุศโลบายเมืองนครศรีธรรมราช : สู่อุบายวิธี การสร้างกระบวนการคิดที่เหนือจริงทางทัศนศิลป์ร่วมสมัย” หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา งานวิจัยเป็นการถอดรื้อโครงสร้างวรรณกรรมตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยหลักการทฤษฎี การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ สู่การวิเคราะห์ การตีความและนำข้อมูลที่ได้ไปสร้างกุศโลบายใหม่ในชุมชน ผ่านการออกแบบและสร้างสรรค์เป็นผลงานจิตรกรรมในเนื้อหาต่าง จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. เรื่องมุขปาฐะชุมชนบ้านขุนน้ำ เป็นการสร้างเอกภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2. เรื่องโจ หรือกะโจ เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ของการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เช่น การลักขโมย เป็นกุศโลบายเก่าในบริบทปัจจุบัน ใช้สำหรับหลอกเด็กในชุมชนให้เกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลจากการกระทำจากอำนาจ เหนือธรรมชาติจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องชุมชน 3. เรื่องความเชื่อประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นกุศโลบายเดิมในภาพลักษณ์ปัจจุบัน สารทเดือนสิบเป็นกุศโลบายของจังหวัดนครศรีฯ ที่ไม่เคยเปลี่ยนและใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย เช่น เรื่องความกตัญญูแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ การรวมญาติ งานรื่นเริงร่วมกันประจำปี การทำบุญในช่วงฤดูที่พืชพันธุ์ต่างๆกำลังได้ผล และขนมเดือนสิบสามารถเก็บไว้ได้ในช่วงหน้าฝน รวมถึงการทำนุบำรุงศาสนา และ 4. เรื่องชุมชนร่วมสมัย จากภาพศรัทธาไอ้ไข่ (อย่าเจ็บ อย่าจน) การพึ่งพาตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องของสุขภาพและสาธารณสุข (COVID – 19) กับเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (แทนค่าด้วยไอ้ไข่) เรื่องทั้งหมด มาจากวิธีการ การวางโครงสร้างตำนานเมือง และตำนานพระธาตุนครศรีฯ นำวิธีการวางโครงสร้างเนื้อหามาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาใหม่ในชุมชนผ่านเรื่องราวในปัจจุบันหรือเนื้อหาที่มีความร่วมสมัย
ซึ่งผลงานจิตกรรมหลังจากเสร็จสิ้นนิทรรศการและกระบวนทางการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะนำผลงานชุดดังกล่าวไปติดตั้ง ณ วัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนในลำดับต่อไป
.
สำหรับผลงานที่นำมาจัดนิทรรศการ ประกอบด้วย ผลงานภาพร่างวาดเส้น 12 ชิ้นงาน ผลงานภาพร่างสีน้ำ 12 ชิ้นงาน และผลงานจิตรกรรมสีอะคริลิคบนผ้าใบ 4 ชิ้นงาน มีการเปิดให้ชมนิทรรศการได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร /ภาพ
เทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ /ออกแบบ