16 ธ.ค. 2021

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับจังหวัดระนอง เดินหน้าขับเคลื่อนเปิดตลาดคนไทยยิ้มได้ผลักดันพื้นที่ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการตามพระราโชบาย ยกระดับชุมชนท้องถิ่น สร้างแนวทางการพัฒนาตนเองสู่การเลี้ยงชีพแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท ภายใต้การบูรณางานและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง และอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พร้อมผลักดันสินค้าชุมชน อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ทางเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเล ตลอดสินค้า OTOP สู่ตลาดคนไทยยิ้มได้ หวังสร้างรายได้หลังสถานการณ์โควิด 19 ระบาด โดยมี นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายปลื้ม นับถือบุญ พัฒนาการจังหวัดระนอง นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส. และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณสถานีสุขสำราญ หมู่ 5 ตำบลสุขสำราญ อำเภอสุขสำราญ จังหวดระนอง
.
ด้านนายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ตำบลกำพวนและตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โดยมีกลุ่มอาชีพที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่ว กลุ่มสตรีทำขนมบ้านโตนกรอย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านทะเลนอก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังเป็ด โดยได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงกระบวนการจัดการด้านการส่งเสริมการขาย การตลาดออนไลน์ การทำบัญชีครัวเรือน การกำหนดราคาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของชุมชน ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน อย. GMP และ GAP ของผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผักปลอดสารพิษชนิดต่างๆ พริกไทยดำ กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาแดดเดียว ปลาสวรรค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การเลี้ยงเป็ด การแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยฯ ได้นำองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ บูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการประสานความร่วมมือของอำเภอสุขสำราญ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุขสำราญ สำนักงานเกษตรอำเภอสุขสำราญ เพื่อต่อยอดและยกระดับสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และให้ประชาชนนำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการสร้างตลาดแหล่งจัดจำหน่ายทุกรูปแบบแก่ชุมชนต่อไป

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ /ภาพ
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน