มรส.ยกทัพจัดอบรม“ทักษะวิศวกรสังคม” ช่วยประชาชนพื้นที่ จ.ชุมพร ลดรายจ่าย พร้อมสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนที่ยั่งยืน
วันนี้(24 กุมภาพันธ์ 2564)ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) นำทีมวิทยากรลงพื้นที่ จังหวัดชุมพร จัดอบรม“ทักษะวิศวกรสังคม” รุ่น 4 เเก่ผู้ผ่านการการคัดเลือกให้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กฤษณะ ทองแก้ว และทีมวิทยากร ในการบรรยายและฝึกทักษะวิศวกรสังคม ระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2564 ณ หอประชุมราชพฤกษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
:
ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้กำหนดจัดอบรมทักษะวิศวกรสังคมให้กับผู้ผ่านการการคัดเลือกให้ปฏิบัติงานโครงการฯ ทั้งหมด 5 รุ่น ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดอบรมให้กับผู้รับการจ้างในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปแล้วจำนวน 3 รุ่น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และในวันนี้เป็นรุ่นที่ 4 ที่ได้กำหนดจัดขึ้นให้กับผู้รับการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดชุมพร แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้รับการจ้างงานได้รับผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส 2019 มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อลดรายจ่ายค่าเดินทาง ค่าทีพัก ของผู้เข้าร่วมอบรม ทางมหาวิทยาลัยจึงได้นำทีมผู้บริหาร ทีมวิทยากร และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมาจัดอบรมในพื้นที่จังหวัดชุมพรแทน โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จัดอบรมจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เป็นอย่างดี
:
ดร.พลกฤต กล่าวต่อไปว่า ผู้รับการจ้างงานจะได้รับการฝึกทักษะการเป็นวิศวกรสังคมในการทำงานกับชุมชนบนฐานข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโครงการฯ จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นระยะ ๆ ให้สอดรับกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน โดยกิจกรรมต่างๆ นั้น จะแบ่งเป็นกรอบใหญ่ ๆ อาทิเช่น กิจกรรมในด้านการพัฒนาสัมมาชีพ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยกิจกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมนี้ จะดำเนินการผ่านผู้ที่ได้รับการจ้างงานภายใต้การชี้แนะให้คำปรึกษา จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็น System Integrator ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา 1,640 อัตรา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จํานวน 82 ตำบล ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 63 ตำบล จังหวัดชุมพร 7 ตำบล และจังหวัดระนอง 12 ตำบล จากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส 2019
:
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี