สำนักศิลปะฯ มรส. ชูประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมวิธีการย้อมไหมโบราณ ยืน 1 ไม่เป็นรองใคร
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “มรดกสิ่งทอสุราษฎร์ธานี” ย้อมไหมด้วย “แกแล” และ “ครั่ง” ดันชุมชนอนุรักษ์มรดกสิ่งทอ พร้อมหยิบวัตถุดิบธรรมชาติประยุกต์ร่วมสมัย โดยมีกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านท่ากระจาย ศูนย์ศิลปาชีพบ้านท่านหญิง เป็นวิทยากร หวังเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมการย้อมไหม
.
อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า มรดกสิ่งทอที่มีลายแตกต่างกันหลายชนิดรวมไปถึงการย้อมสีจากธรรมชาติ เช่น จากต้นแกแลและครั่ง เป็นวิธีการย้อมไหมของคนในชุมชนสมัยโบราณ มีการใช้สีจากพืชพันธุ์ธรรมชาติทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอมีคุณค่ามากกว่าการใช้สีจากสารเคมี จนสามารถนำไปต่อยอดประดิษฐ์คิดค้นลายทอผ้าใหม่ๆ อีกทั้ง มีการถอดลายผ้าโบราณลงกราฟส่งมอบให้ชุมชนได้นำไปทดลองใช้ในการประกอบอาชีพ
.
ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “มรดกสิ่งทอ สุราษฎร์ธานี” เป็นการร่วมระดมความคิดกับผู้นำชุมชน ประชาชนในท้องถิ่น และเครือข่ายสถานศึกษา เพื่อนำแนวคิดด้านกระบวนการทางวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิของผู้อื่น โดยมุ่งเน้นกระบวนการทำงานให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน จนนำมาสู่มรดกสิ่งทอจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นสื่อกลางในการดำเนินงานดังกล่าว
.
สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “มรดกสิ่งทอสุราษฎร์ธานี” จัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2564 ณ เรือนไทย 4 ภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งภายใต้โครงการส่งเสริมความรักความสามัคคี มีระเบียบวินัยเข้าใจสิทธิของผู้อื่น กิจกรรม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนเพื่อเสริมสร้างความสามัคคี (พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี) ดำเนินการจัดการผ่านโครงการบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สู่การดำเนินงาน โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสิ่งทอของจังหวัด ผ้าทอโบราณ การเรียกขาน ประวัติความเป็นมา ตลอดความสำคัญที่เกี่ยวข้อง เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมการย้อมผ้าไหมต่อไป
.
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ภาพ/ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร รายงาน