05 เม.ย. 2022

“โนรา” ไม่ได้อยู่แค่การร่ายรำแต่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ … นศ. การจัดการทางวัฒนธรรม มรส. จัดนิทรรศการ “สืบย่านสาวโยดถึงหัวโจทย์โนรา” ร่วมบูรณาการศาสตร์หวังเท่าทันยุคโลกาภิวัฒน์

นักศึกษาสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก สื่อสารผ่านนิทรรศการสืบย่านสาวโยด ถึงหัวโจทย์โนรา นาฏยลักษณ์ของคนใต้ บูรณาการศาสตร์หวังสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่าและมูลค่า เป็นเครื่องมือพัฒนาผู้เรียนให้มีความเข้าใจในคุณค่าที่แท้จริงของวัฒนธรรม นำไปสู่การคิด วิเคราะห์ จินตนาการ หาแนวทางสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาทางวัฒนธรรม โดยมี ผศ.ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัลญา แก้วประดิษฐ์ ประธานสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม และอาจารย์ นักศึกษา ประจำสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม ร่วมพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม กล่าวว่า นิทรรศการทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม โดยปีนี้นักศึกษาเลือกจัดเเสดงเกี่ยวกับโนรา เนื่องจากนักศึกษามีความรู้ความสามารถเรื่องโนราเป็นทุนเดิม อีกทั้งเป็นช่วงที่โนราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จึงต้องการเเสดงให้เห็นว่าเสน่ห์ของ “โนรา” ไม่ได้อยู่แค่การร่ายรำ แต่ยังอยู่ที่เครื่องแต่งกายและพิธีกรรม ความเชื่อ ที่มีสีสันและทักษะการแสดง การร่ายรำด้วยท่วงท่าที่งดงาม อ่อนช้อย มั่นคง แข็งแรง ฉับไว ผ่านชุดโนรา มองแล้วเกิดความกระชุ่มกระชวยเป็นเสน่ห์ของภูมิปัญญาชาวใต้ที่สืบต่อกันมา ควรค่าแก่การค้นคว้าหาข้อมูลเเละเลือกสรร เพื่อนำมาจัดเเสดงเป็นนิทรรศการภายใต้ชื่อ “สืบย่านสาวโยดถึงหัวโจทย์โนรา” เป็นการสืบสาวราวเรื่องให้ถึงเเก่นราก มีการยกโนราโรงครู พร้อมเครื่องประกอบต่างๆ มาจัดเเสดง อีกทั้ง ยังมีการจัดเเสดงภาพถ่ายทางวัฒนธรรมที่เปิดรับจากผู้ที่สนใจเรื่องโนรา เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับนิทรรศการ นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานที่จัดเเสดงจริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ตั้งเเต่ขั้นตอนการวางเเผนการทำงานทุกอย่าง การทำงานเป็นทีม ความขยันมั่นเพียร ความอดทนต่อการทำงาน เเละต้องทำงานภายใต้ภาวะเเรงกดดันเพื่อให้งานนิทรรศการที่จัดเเสดงมีคุณภาพสร้างคุณค่ากับผู้ชม และเพื่อต่อยอดการทำงานในอนาคตข้างหน้าของนักศึกษาเองด้วย
.
ด้านนายธนกร ฤทธิเดช นักศึกษา ชั้นปีที่ ๓ สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม และเป็นประธานรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตนเองสนใจงานทางวัฒนธรรม เพราะมีพื้นฐานด้านการรำโนรา และงานหัตกรรมลูกปัดโนรา ประกอบกับสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรมเป็นสาขาวิชาที่ตอบโจทย์ด้านการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย สามารถนำทุนเดิมที่มีอยู่มาพัฒนา ต่อยอด และบูรณาการร่วมด้วยได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีให้เกิดประโยชน์ได้ ส่วนเหตุผลที่เลือกจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม ในหัวข้อโนรา เพราะเพื่อนในกลุ่มเรียนต่างมีความสนใจ ประกอบกับเป็นช่วงที่โนราได้รับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโก้ ทางคณะผู้จัดจึงได้ศึกษาและดึงเอาจุดที่น่าสนใจมาจัดแสดงผ่านแนวคิดที่ว่า “โนราไม่ใช่แค่การร่ายรำ” แต่โนราแฝงไปด้วยภูมิรู้ที่หลากหลายมีความผูกพันธ์กับวิถีชีวิต แล้วยังเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นมูลค่าได้ ผ่านความรู้จากศาสตร์พิพิธภัณฑ์วิทยา การถ่ายภาพเเละวิดิทัศน์เพื่อการจัดการทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ศิลปะการเเสดงปักษ์ใต้ ระบบความเชื่อกับสังคมไทย การออกเเบบกราฟฟิกเพื่อการจัดการทางวัฒนธรรม การจัดการธุรกิจทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้านกับการพัฒนา.สำหรับนิทรรศการ “สืบย่านสาวโยด ถึงหัวโจทย์โนรา” เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม ของหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี เปิดโซนนิทรรศการประกอบด้วย โซนที่ 1 สื่อ VDO : NORA โซนที่ 2 : ภูมิรู้ในตัวตนของโนรา Knoeledge from Nora โซนที่ 3 : เล่าขานประวัติตำนานโนรา The History and Myth of Nora โซนที่ : โลกของโนรา World of Nora และโซนที่ 5 : คุณค่าของโนรา Nora’s Value จัดแสดงระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2565 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
—————————————
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
สมยศ นุ่นจำนงค์ /ถ่ายภาพ
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน