26 เม.ย. 2022

ผช.รมต.อว. นำทีมถอดบทเรียน U2T เปิดเวทีถกประเด็นการดำเนินงานปี 64 ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลดำเนินงาน จ.สุราษฎร์ฯ

วันนี้(25 เม.ย. 2565) ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้า อว. ส่วนหน้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้นำชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการอำนวยการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ถอดบทเรียนโครงการ U2T ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบางใบไม้ ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
:
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานคณะกรรมการถอดบทเรียนโครงการ U2T กล่าวว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะ อว. ส่วนหน้า ที่เป็นหน่วยรวบรวม และรายงานผลการดำเนินงานโครงการ U2T ในภาพรวมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาพัฒนาชุมชน ตำบล ในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการถอดบทเรียนฯ จะได้นำข้อมูลรวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับจากผู้รับผิดชอบโครงการในพื้นที่และชุมชนที่เกี่ยวข้อง นำเสนอผลการดำเนินงาน ทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงาน ไปวิเคราะห์ข้อมูลข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในด้านการถอดบทเรียนโครงการ U2T ต่อไป
:
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะ อว.ส่วนหน้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยผศ.ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานโครงการ U2T นำโดยดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ Project manager ได้ร่วมกันทำให้เกิดแนวคิดและพบแนวทางต่างๆ ที่ดีในการดำเนินงาน ยกตัวอย่าง เช่น องค์ความรู้ที่นำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบางผลิตภัณฑ์ สามารถที่จะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ โดยมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง สามารถเติมเต็มหรือนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ด้านอื่นๆ จากอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างแต่ลงตัว ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีความสมบูรณ์ ได้รับกรพัฒนาและยกระดับ ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม อย่างหลากหลายจากการบูรณาการของหลายภาคส่วนได้เกิดการผลักดันการดำเนินงานแบบบูรณาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา ตำบล หรือจังหวัด มาประยุกต์ใช้ร่วมกันและผสมผสานองค์ความรู้เข้าด้วยกัน เกิดเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ ภายใต้การนำปราชญ์ชาวบ้านมาพัฒนาประยุกต์ใช้ และปลูกฝังให้เกิดการพัฒนากับคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสืบทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ท้องถิ่น นั้นๆ เอาไว้ไม่ให้สูญหายไปตามยุคสมัย แต่สามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ได้อย่างร่วมสมัย โดยประยุกต์ใช้และปลูกฝังหลักการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุและผลเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญยิ่ง
:
ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ Project manager โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เผยถึงการดำเนินงานโครงการ U2T ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดทำโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้ว ให้ประเทศ
: U2T) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยได้สามารถใช้องค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)ในขณะเดียวกันก็สามารถนำประเด็นปัญหาของประเทศ มาสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคน พัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยดำเนินการในพื้นที่ รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งหมด 82 ตำบล ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร เเละจังหวัดระนอง สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับบัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาและประชาชนมากกว่า 2,200 คน เกิดกิจกรรมหลากหลายมิติในชุมชนที่เข้าไปทำงาน รวมกว่า 386 กิจกรรม สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลได้อย่างยั่งยืน
:
ส่วน ผศ.ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน หรือ “อว. ส่วนหน้า” เพื่อเป็นหน่วยประสานงานระหว่างจังหวัดกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในสังกัด อว.ให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ด้วยการบูรณาการศาสตร์ ที่ผ่านงานวิจัยและพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมที่หลากหลายของสถาบันการศึกษามาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ และจังหวัด นับว่า “อว. ส่วนหน้า” มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานของกระทรวง อว. ในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ
—————————————-
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
นภัทร ส้มแก้ว นักประชาสัมพันธ์ ภาพ
เทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ นักประชาสัมพันธ์ ออกแบบ