มรส.ส่งมอบเครื่องขึ้นรูปกระถางต้นไม้จากใยมะพร้าวพร้อมชุดนิทรรศการมะพร้าวเกาะพะงัน ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากพืชประจำถิ่น
สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) บูรณาการศาสตร์ด้านการใช้ประโยชน์จากต้นมะพร้าวทุกมิติ ร่วมส่งเสริมการสร้างรายได้และแก้ไขปัญหาจากความต้องการของคนพื้นถิ่น สร้างแหล่งเรียนรู้ดึงนักท่องเที่ยวมุ่งสร้างจิตสำนึก สืบสาน สร้างสรรค์ และอนุรักษ์ ต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนเกาะพะงัน ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.-มสธ.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ หัวหน้าโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาจารย์คมกริษณ์ ศรีพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
.
ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการศึกษาและเก็บข้อมูลด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ลักษณะของมะพร้าวที่เป็นอัตลักษณ์ของเกาะพะงัน ภูมิปัญญาด้านความเชื่อ เรื่องการฝังรกทารกใต้ต้นมะพร้าว ภูมิปัญญาด้านอาหาร การใช้ส่วนต่างๆของมะพร้าวมาประกอบอาหารเป็นอาหารพื้นถิ่นที่ที่อื่นไม่มี รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว เป็นต้น สู่การถ่ายทอดเรื่องราวเป็นนิทรรศการมะพร้าวเกาะพะงัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะพะงันได้ร่วมสร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญของมะพร้าว
.
ด้านนายสฤษฎ์ โชติช่วง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัด สุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงความต้องการด้านการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวให้ครบทุกมิติและทุกส่วนของมะพร้าวซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ประกอบด้วย กรอบการเรียนรู้ กรอบการสร้างจิตสำนึก และกรอบการใช้ประโยชน์ โดยกลุ่มฯ ได้มีการขับเคลื่อนโดยนำวัตถุดิบจากมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ให้ครบทุกส่วนรวมไปถึงวัสดุเศษเหลือใช้ เช่น เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว ตลอดจนเส้นใยของมะพร้าว ที่ต้องการนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจร (Zero waste) จึงเป็นที่มาของความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การขึ้นรูปกระถางจากใยมะพร้าว ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่สมาชิกในกลุ่มฯให้สามารถต่อยอดเป็นรายได้สู่ท้องถิ่นต่อไป
.
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้มะพร้าวเกาะพะงันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.-มรส.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ในปีถัดไป ได้มีแผนการดำเนินงานการพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มฯ เช่น การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว และการรังสรรค์เมนูจากมะพร้าวเพื่อต่อยอดรายได้เสริมของชุมชน โดยการนำน้ำมะพร้าวมาประยุกต์เป็นเครื่องดื่มประเภทค็อกเทล (cocktail) และเครื่องดื่มสุขภาพ สำหรับบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน