สทน. จับมือ มรส. พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี ครั้งที่ 2
มื่อพุธวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 – 14.00 ณ ห้องวิทยพัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มอบหมายให้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวเปิดงานและให้การต้อนรับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)และผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก ให้เข้ารับใบประกาศนียบัตร การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ Product champion ในภาคใต้ โดย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เข้าเปิดงานผ่าน Facebook live ภายในงานดังกล่าว โดยเป็นการร่วมมือสืบเนื่องมากจากการทำ MOU ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับเลือกจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นสถานที่จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ปี 2565 ถึง 2 ครั้ง
:
ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างการรับรู้ สร้างเข้าใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ส่งเสริมความรู้ด้านอาหารฉายรังสี เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากรังสี และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ
:
รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อพูดถึง “อาหารใต้” เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึงอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน ร้อนแรง มีความหอมของเครื่องแกงเฉพาะตัว จนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ อาจด้วยในอดีตที่ภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางในการเดินเรือค้าขายของทั้งพ่อค้าชาวจีนและชาวอินเดีย ทำให้อาหารใต้ได้รับอิทธิพลและต้นตำรับการปรุงเครื่องเทศมาจากชาวอินเดีย โดยเฉพาะชาวอินเดียใต้ และประกอบกับเครื่องเทศนั้นสามารถดับคาวจากอาหารทะเลได้ เอกลักษณ์อีกอย่างที่ปรากฏเด่นชัดคือความเผ็ด ที่ทำให้อาหารใต้มีรสชาติเผ็ดกว่าอาหารภาคอื่นๆ เพราะเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นตลอดทั้งปี ทำให้เครื่องแกงและเครื่องจิ้มต่างๆมีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน เพราะเชื่อว่าความเผ็ดจะช่วยอบอุ่นร่างกายและป้องกันความเจ็บป่วย และความเผ็ดจากพริกขี้หนูจะช่วยดับกลิ่นคาวของปลา
:
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ยังระบุอีกว่าสำหรับกิจกรรมในวันนี้ มหาวิทยาลัยเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการพัฒนาต่อยอด ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ก่อนที่จะสูญหายไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงร่วมเปลี่ยนวิธีคิดแก่คนในชุมชนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยยึดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น และให้ประชาชนนำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
:
ภาพ/ข่าว สถาบันวิจัยฯ มรส
รายงาน อดิสรณ์ เนาวโคอักษร
สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี