มรภ.สุราษฎร์ธานี ร่วมส่งเสริมการวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนด้านพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง เพื่อสุขภาพ
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนด้านพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ หวังสร้าง-เพิ่มองค์ความรู้ ความเข้าใจ สรรพคุณ ประโยชน์ การแปรรูปสมุนกัญชา กัญชง และพืชกระท่อมให้เกิดความท่องแท้ พร้อมออกแบบผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สู่การบำบัดและรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นตามแบบแผนภูมิปัญญาไทยแก่คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยมี ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม พร้อมได้รับเกียรติจากวิทยากร นายอร่าม ลิ้มสกุล ปราชญ์กัญชา ถ่ายความรู้ด้านงานวิจัยเรื่องพืชสมุนไพรไทย เรื่องสรรพคุณทางยาของพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง และกระท่อม ดร.อรุโณทัย เจือมณี อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ” และ อาจารย์ปิยะบุษ ปลอดอักษร อาจารย์สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การออกแบบผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องรวงผึ้ง 1 อาคารคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า สมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในชุมชนหรือครอบครัว จึงมีการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาเบื้องต้น รับประทานอาหารเป็นยา รักษาด้วยแพทย์แผนไทย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยอาศัยภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านที่สืบทอดกันมา ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำสมุนไพรมารักษา และประชาชนให้ความสนใจกับการดูแลรักษาสุขภาพ มีการปลูกพืชสมุนไพรภายในครัวเรือน ซึ่งตอนนี้ สมุนไพรกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม เป็นสมุนไพรที่ได้รับกระแสนิยมทางด้านสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกัญชา กัญชง กระท่อม เป็นหนึ่งในพืชที่มีสารสำคัญอยู่ภายใน มนุษย์รู้จักพืชชนิดนี้นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยากันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมาเมื่อกัญชาถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติดจึงถูกระงับการใช้ในวงการแพทย์ไป แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยใช้เป็นยารักษาอาการบางอย่างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน จนเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ ได้มาไขปริศนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์สมัยใหม่ จน “กัญชา” กลับมาเป็นพืชที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง รวมถึงในประเทศไทยได้อนุญาตให้ ปลูกและนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และปลดล๊อคให้บางส่วนของกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
———————————————–
#สถาบันวิจัยและพัฒนา
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
เทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ / ออกแบบ
นายณัฐนัย พิลึก /ข่าว
กนกรัตน์ ศรียาภัย /เรียบเรียง
สมยศ นุ่นจำนงค์ /ภาพ
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน