26 ธ.ค. 2022

มรส.ผนึกกำลังกลุ่มดนตรีไทยสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ร่วมซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมในการแสดงดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 45 “สังคีตศิลป์สุนทรีย์ เทิดพระบารมีจอมราชัน”

      เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ณ อาคาร 14 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) พร้อมด้วยกลุ่มดนตรีไทยสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ร่วมซ้อมกลุ่มดนตรีไทยสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมแสดงดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 45 สังคีตศิลป์สุนทรีย์ เทิดพระบารมีจอมราชัน ระหว่างวันที่ 27-28 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  

:
งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่พุทธศักราช 2509 เป็นต้นมา ด้วยสถาบันอุดมศึกษาประจักษ์ในความสำคัญของศิลปะดนตรีไทย อันทรงคุณค่าอเนก ประกอบทั้งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรแก่การเชิดชูและอนุรักษ์ไว้ จึงมาร่วมชุมนุมเพื่อทำกิจกรรม ทางด้านดนตรีไทย งานดนตรีไทยอุดมศึกษาได้เจริญขึ้นโดยลำดับ ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเข้าร่วมเกือบทุกสถาบัน
:
ทั้งนี้มีสถาบันร่วมแสดงดนตรีไทยรวมกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ในครั้งนี้จำนวน 10 สถาบัน ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 2.มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 4. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 6. วิทยาลัยนาฏศิลปะนครศรีธรรมราช 7. วิทยาลัยนาฏศิลปะพัทลุง 8. มหาวิทยาลัยทักษิณ 9. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ 10.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รวมกว่า 155 ชีวิต
:
วิทยากรที่ให้เกียรติให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ อาจารย์พัฒนี พร้อมสมบัติ อาจารย์นิษา ถนอมรูป ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านคีตศิลป์ไทย อาจารย์กรรธวัช แก้วอ่อน เป็นผู้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยประเภทปีพาทย์ เครื่องกำกับจังหวะ สังกัดสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชวิช มุสิการุณ มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีประเภท เครื่องสาย เครื่องเป่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
:
สำหรับในวันนี้นั้น ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดี ฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ และเครือข่ายสังคม ร่วมชมการซ้อมกลุ่มดนตรีไทยสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้และให้กำลังใจ พร้อมด้วย อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ผศ.ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และดร.อัญชลี แสงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และบุคลากรมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตระหนักในความสำคัญดังกล่าว และเพื่อส่งเสริมให้ความรู้ เพิ่มพูนทักษะ และความสามารถด้านดนตรีไทยแก่นักศึกษา จึงเห็นสมควรส่งเสริม พัฒนาให้นักศึกษาผู้สนใจมีทักษะ ความสามารถด้านดนตรีไทยยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมกิจกรรมดนตรีไทยในโอกาสต่างๆ ต่อไป
:
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ข่าว/ภาพ

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี