นศ.การจัดการทางวัฒนธรรม มรส. ชู “งานวัฒน์ (วัด) 5f Cultural Fair”
นำ BCG โมเดลสู่ Soft Power ด้านความเป็นไทย
——————————————–
นักศึกษาสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตอบสนองนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม นำ BCG โมเดลสู่ Soft Power ด้านความเป็นไทย หวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy ทางวัฒนธรรม 5f จาก Food Film Fashion Fighting และ Festival สู่ระดับโลกมุ่งสร้างรายได้และภาพลักษณ์แก่ประเทศ พร้อมปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมภาคใต้ ตลอดบูรณาการการเรียนการสอนด้านการสื่อสารความรู้ผ่านการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรมกับรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม จนเชื่อมโยงองค์ความรู้จากวิชาเรียนกับกิจกรรมโครงการสู่แนวทางการประกอบอาชีพแก่นักศึกษาในอนาคต โดยมี ผศ.ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัลญา แก้วประดิษฐ์ ประธานสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม โดยปีนี้นักศึกษาได้นำแนวคิดด้านการขับเคลื่อน Soft Power ด้วย 5f ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมภาคใต้ ที่ประกอบด้วย Food อาหาร Film ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย ซึ่งนักศึกษาเลือกเป็นชื่อของงานนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “งานวัฒน์ (วัด) 5f Cultural Fair”
.
ด้านนางสาวอิสราภรณ์ เกิดเมืองเล็ก นักศึกษาสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม และเป็นประธานโครงการนิทรรศการงานวัฒน์ (วัด) 5f Cultural Fair เปิดเผยว่า มากกว่าการได้ความรู้จากในห้องเรียน คือ สามารถนำองค์ความรู้มาสื่อสารผ่านงานนิทรรศการ ได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติงานในสถานที่จัดเเสดงงานจริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ตั้งเเต่การวางเเผนการทำงานให้เป็นระบบ การทำงานเป็นทีม ความขยันมั่นเพียร ความอดทนต่อการทำงาน เเละต้องทำงานภายใต้ภาวะเเรงกดดันเพื่อให้งานนิทรรศการที่จัดเเสดงมีคุณภาพสร้างคุณค่ากับผู้ชม และเพื่อต่อยอดการทำงานในอนาคตด้วย
.
สำหรับนิทรรศการ “งานวัฒน์ (วัด) 5f Cultural Fair” เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม ของหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีการเปิดโซนนิทรรศการประกอบด้วย โซนที่ 1 : F-Film (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์) ภายใต้ชื่อ “แลหนัง ล่องใต้” สนุกเพลิดเพลิน เข้าใจถึงเอกลักษณ์ความงดงามในภาษาท้องถิ่นใต้ และศิลปะการแสดงของสายเลือดคนใต้ มีการนำตัวอย่างภาพยนต์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมภาคใต้ เช่น สะพานรักสารสิน เทริด เป็นต้น โซนที่ 2 : F-Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) ภายใต้ชื่อ “ผ้าสวยแดนด้ามขวาน” สีสันแห่งเมืองใต้ สัมผัสกับความงดงามของผ้าภาคใต้ที่แปลกใหม่ สวยงามและประณีต มีการแสดงโชว์ผ้าปาเต๊ะ และมุมภาพถ่ายจากการมีส่วนร่วมของผู้สนใจส่งภาพถ่ายของบุคคลขณะสวมใส่ผ้าปะเต๊ะ โซนที่ 3 : F-Food (อาหาร) ภายใต้ชื่อ “หอมทั้งเรินแต่เพื่อนแล่น” ทำความรู้จักอาหารใต้ ลองชิมแลตะ หรอยนิอย่าว่าพรือ มีการปรุงอาหารปักษ์ใต้ เช่น แกงส้ม แกงคั่ว แกงไตปลา เป็นต้น โซนที่ 4 : F-Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย) ภายใต้ชื่อ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” มวย ไชยา แม่ไม้แห่งชีวิต ศิลปะหมัดคาดเชือก มีการแสดงโชว์มวยไชยา ด้วยกระบวนท่ามวยไชยา และโซนที่ 5 : F-Festival (เทศกาลประเพณีไทย) ภายใต้ชื่อ “งามเหมือนเรือพระ” เดินชม ทำบุญเสริมดวง พร้อมกับชมความงดงามในลวดลายของเรือพระที่มีความหลากหลายลงตัว ชมนิทรรศการได้ระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2566 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี
—————————————
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร /ถ่ายภาพ