
คณะพยาบาลศาสตร์ มรส.ผสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชน อบรมและมอบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) สนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกาะห่างไกล
………………………………………………………………………………………………
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์พร พงศ์เตรียง รองคณบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ และทีมอาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 รวม 13 ราย ผนึกกำลังองค์กรเอกชนจาก บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด นำโดย คุณกิจกมน ไมตรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงพื้นที่ เกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาสมรรถนะการช่วยฟื้นคืนชีพ การส่งต่อและการช่วยเหลือทางทะเล แก่ประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่ กว่า 50 ราย เมื่อ วันที่ 10-13 กรกฎาคม 2566 ณ รพ.สต.เกาะพะลวย และลานท่าเรืออ่าว 2
ทั้งนี้ ในกิจกรรมโครงการได้มีการส่งมอบการบริจาค เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) จากการสนับสนุนของ คุณกิจกมน ไมตรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เทลลี่ 360 จำกัด โดยได้รับเกียรติในพิธีรับมอบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) จาก คุณสุริยา เชื่องช้าง สาธารณสุขอำเภอเกาะสมุย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่เกาะห่างไกลในการลดความเสี่ยงของความพิการและเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม การฟื้นฟูสมรรถนะการช่วยฟื้นคืนชีพ การส่งต่อและการช่วยเหลือทางทะเลผ่านสถานการณ์จำลอง จากทีมคณาจารย์และนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ กิจกรรมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพและการส่งต่อโดยการบูรณาการเทคโนโลยี AOC ระบบบริหารจัดการรถพยายาลแบบรวมศูนย์ (สำหรับปฎิบัติการทางทะเล และพื้นที่ห่างไกล) Ambulance Operation Center (Extension Sea Operations and Remote Operations) จากบริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับเรือประมงพื้นบ้าน ที่ใช้ในการ ติดตามและสื่อสารการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บโดยเรือไปยังสถานบริการที่มีศักยภาพ เช่น โรงพยาบาลดอนสัก กิจกรรมดังกล่าว ได้รับการตอบรับและสร้างความประทับใจจากชาวบ้าน ที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ผสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชนอย่างจริงจัง ในการยกระดับภาวะสุขภาพและการเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพของพื้นที่เกาะห่างไกลที่มีข้อจำกัดในหลากหลายปัจจัย ทำให้เพิ่ม ความรู้และศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวในการมาเยือนในอนาคตต่อไป
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี




