11 พ.ค. 2011
มรส.จัดวิพากษ์หลักสูตรรายวิชาศึกษาทั่วไป ชี้ชัดอาจารย์ต้องเป็นเอตทัคคะทั้งวิชาเอก และความรู้รอบตัว
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้จัดวิพากษ์หลักสูตรรายวิชาศึกษาทั่วไป ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารทีปังกรรัศมีโชติ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมาร่วมวิพากษ์ อาทิ รศ.ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รศ.ดร.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต อาจารย์ประจำภาคจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดี มรส. เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมบรรยายพิเศษ มีอาจารย์เข้าร่วมการวิพากษ์กว่า ๓๐๐ คน
ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษว่า การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น จะรอบรู้เฉพาะวิชาเอกที่ตนสอนและรับผิดชอบหาได้ไม่ แต่ต้องเข้าใจกระบวนการสร้างนักศึกษา หรือกระบวนการผลิตบัณฑิตทั้งระบบอย่างครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ด้วย ซึ่งในหลักสูตรการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ในจำนวนหน่วยกิตทั้งหมด ๑๒๐ หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปเสียหนึ่งในสี่ อีก ๘๔ หน่วยกิต เป็นวิชาเอกและวิชาที่เกี่ยวข้อง และอีก ๖ หน่วยกิต เป็นวิชาเลือกเสรี ดังนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะอ้างว่า ตนรอบรู้ลุ่มลึกใน ๘๔ หน่วยกิต อย่างดีเยี่ยมแล้ว แต่ไม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบไม่ได้
อธิการบดี มรส. กล่าวต่อไปว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะประกาศว่า ตนเป็นเอตทัคคะในวิชาเอก โดยที่ขาดความรอบรู้ในวิชาศึกษาทั่วไปไม่ได้ อาจารย์จะต้องเชี่ยวชาญทั้งสองวิชานี้อย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเก่งกาจในศาสตร์ของตน แต่ขาดความรู้รอบตัวที่ท่วงทันกับการเปลี่ยนแปลงของ โลก
“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้จะเน้นวิชาเอกแต่ก็ต้องไม่ละเลยสรรพสิ่งรอบข้าง เพราะหากจะเปรียบไปแล้ว วิชาเอกก็เปรียบเสมือนเสาหลักที่สร้างบัณฑิตให้สมบูรณ์ แต่วิชาศึกษาทั่วไปก็เปรียบประดุจรากฐานที่ทำให้เสาหลักสามารถยืนต้นอยู่ได้ อย่างทะนงองอาจและแข็งแกร่ง หรือหากเปรียบวิชาเอกเป็นดั่งแก่นแกนของขุนเขา วิชาทั่วไปก็เปรียบเสมือนฐานรากของขุนเขา ไม่มีขุนเขาใดสูงเสียดฟ้าได้ถ้าฐานเล็ก ฐานยิ่งกว้าง ขุนเขายิ่งหนักแน่น ฐานยิ่งใหญ่ ขุนเขายิ่งสูง มั่นคงและแข็งแรง ดังนั้น อาจารย์ต้องรับรู้องค์รวมแห่งการเรียนรู้ของนักศึกษาทั้งหลักสูตรให้ได้ เพื่อสร้างฐานรากที่กว้างใหญ่หนักแน่นและขุนเขาที่สูงเสียดฟ้าให้แก่ศิษย์ ตน” ผศ.ดร.ณรงค์กล่าว