06 มิ.ย. 2011

นศ.มรส.เจ๋ง ผลิตรถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์

 

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผลิตรถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เป็น Project เสนออาจารย์ก่อนจบ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ช่วยทุ่นแรง ลดเวลา และพลังงาน

นายวุฒิวัฒน์ สมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มโครงการผลิตรถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า ตนเองและเพื่อน คือ นายรณชัย เพชร์คง และนายนิรุตต์ พุทฒนวน เป็นนักศึกษาปี ๔ แขนงเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม โปรแกรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้คิดค้นผลงานเสนออาจารย์ก่อนจบการศึกษาโดยมี อาจารย์นิกร บุญญานุกูล, อาจารย์อภิเดช พัฒน์เวช และอาจารย์พรเทพ รักษ์บางแหลม เป็นที่ปรึกษา

มีแนวคิดร่วมกับเพื่อนว่า ปัจจุบันผู้คนโดยทั่วไปใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานและกิจวัตรประจำวันทำ ให้มีเวลาในการสะสางภารกิจส่วนตัวได้น้อยลง จึงมีความคิดว่าควรนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาก และสะดวกสบายยิ่งขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น รวมทั้งนำเวลาส่วนที่เหลือไปใช้ประโยชน์ประเภทอื่นได้อีกด้วย จนในที่สุดก็มีความคิดตรงกันว่า น่าจะผลิตสิ่งที่สามารถลดพลังงานไฟฟ้า ลดแรงงานผู้ใช้งานได้ อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มีต้นไม้นานาชนิด ผู้คนมักจะปลูกต้นไม้ไว้ตามบ้านเรือนเพื่อเป็นร่มเงาให้เกิดความร่มรื่นร่ม เย็นและเพื่อความสวยงาม โดยสภาพต้นไม้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะใบไม้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติคือ ใบไม้ที่หมดความสดใสและไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้แล้ว ก็จะกลายเป็นใบไม้แห้งในสุด ทำให้เกิดความรกรุงรัง การเก็บกวาดใบไม้ในแต่ละสถานที่ก็จะเสียเวลา เสียพลังงาน จึงคิดต่อกันว่า น่าจะผลิตรถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้า ที่สามารถชาร์จพลังงานจากแผงโซลาเซลล์ได้

ด้านนายรณชัย เพชร์คง ได้กล่าวถึงประโยชน์ของรถไฟฟ้าดังกล่าวว่า เป็นรถที่สามารถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยไม่ต้องใช้คนเก็บกวาด เพื่อลดเวลาและลดแรงงานคน โดยใช้พลังงานทดแทน และใช้แผงโซล่าเซลล์เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า ผ่านชุดควบคุมเก็บประจุไฟฟ้าเพื่อประจุให้กับแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายเพื่อส่งไปยังมอเตอร์กระแสตรง ๑๒ โวลต์ ๒ ตัว ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเก็บกวาดใบไม้ และควบคุมสายพานลำเลียงใบไม้ไปลงถังเก็บ

ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพพบว่า สามารถเก็บกวาดใบไม้บนพื้นที่ ๑๐ ตารางเมตร ๓ ระดับ คือ ความหนาแน่นใบไม้น้อยใช้เวลา ๒.๑๕ นาที ความหนาแน่นใบไม้ปานกลาง ใช้เวลา ๔.๒๐ นาที ความหนาแน่นใบไม้มาก ใช้เวลา ๖.๔๐ นาที โดยการทดลองรถเก็บใบไม้แห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถใช้งานได้จริงและเป็นที่น่าพอใจ